มีผู้สอบถามมาเสมอๆ ว่าวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตในระดับภาคีวิศวกร ตามคุณสมบัติขั้นต่ำที่กำหนดสำหรับผู้ตรวจสอบอาคาร ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2543 นั้น เมื่อผ่านการอบรม ผ่านการสอบและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารแล้วสามารถทำการตรวจสอบงานอาคารได้ทุกประเภท ทุกลักษณะ และทุกขนาดได้หรือไม่

ก่อนตอบคำถามข้างต้นนี้ คงจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคารนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอาคาตรงตามชื่อ และพระราชบัญญัติวิศวกรก็เช่นกัน ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเฉพาะงานวิศวกรรมควบคุมตามชื่อ

งานตรวจสอบอาคารเป็นงานตรวจสอบอาคารตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า "กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548"

สำหรับงานวิศวกรรมที่พระราชบัญญัติวิศวกรกำหนดให้เป็นงานวิศวกรรมควบคุมนั้น ควบคุมสามเรื่อง ดังนี้

  1. ประเภทของงานอะไรที่ควบคุม เช่น เป็นงานอาคาร งานเขื่อน งานท่อเรือ เป็นต้น สำหรับสาขาโยธามี 17 ประเภท
  2. ลักษณะของงานอะไรที่ควบคุม สำหรับสาขาโยธา คือ ลักษณะงานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการก่อสร้าง งานพิจารณาตรวจสอบ งานวางโครงการก่อสร้าง และงานให้คำปรึกษา
  3. ขนาดของงานเท่าไรที่ควบคุม

ทั้งสามเรื่องดังกล่าวต้องกำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งปัจจุบัน (วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2550) ยังใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ.2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 ตามมาตรา 79 ของพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 อยู่

ดังนั้นเมื่อผู้ถือใบอนุญาตของสภาวิศวกรได้ใบอนุญาตในระดับใด เช่น ภาคีวิศวกร / สามัญวิศวกร / วุฒิวิศวกรก็จะสามารถทำงานได้ตามประเภท ลักษณะ และขนาดของงานนั้นๆ ตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงและอีกประการหนึ่ง สภาวิศวกรได้มีข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณวิศวกร ซึ่งกำหนดไว้ข้อหนึ่งว่า "วิศวกรจะต้องไม่ทำงานเกินความสามารถ" ตัวอย่างเช่น วิศวกรผู้หนึ่งได้ใบอนุญาตระดับวุฒิวิศวกร ซึ่งสามารถทำงานได้ทุกประเภท ทุกลักษณะ และทุกขนาด แต่วิศวกรผู้นั้นมิได้มีความชำนาญในเรื่องการสร้างเขื่อน วิศวกรผู้นั้นก็ไม่สามารถตรวจสอบงานด้านเขื่อนได้เพราะเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ วิธีที่ดีที่สุดต้องหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ เข้ามาร่วมคณะผู้ตรวจ และที่สำคัญต้องไม่เผลอทำแต่ในนาม คือ รับจ้างลงลายมือชื่ออย่างเดียวโดยมิได้ทำงานเลย เรื่องนี้ก็เป็นการผิดจรรยาบรรณด้วยนะครับ

แหล่งที่มา : วารสาร Engineering Today