ชัยชนะของ"บลูเรย์"

ในที่สุดสงครามฟอร์แมตดีวีดี เทคโนโลยีสื่อบันเทิงภาพและเสียงเจเนอเรชั่นใหม่ก็ได้ข้อยุติแล้ว เมื่อโตชิบา "ถอนสมอ" การผลิต "เอชดี-ดีวีดี" หลีกทางให้ "บลูเรย์" ของโซนี่ได้ผงาด
ผลประโยชน์ตกกับผู้บริโภคเต็มๆ เนื่องจากไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า ยุคไหนจะมีฟอร์แมตใช้ถึง 2 ชนิด เช่น สมัยวิดีโอเทปเมื่อสิบกว่าปีก่อน "เบต้าแม็กซ์" ของโซนี่ก็ยกธงขาวให้กับ "วีเอชเอส" ของพานาโซนิค
ช่วงที่ผ่านมา ทั้ง "เอชดี-ดีวีดี" และ"บลูเรย์" ตีคู่ ชิงดำกันมาตลอด เพราะเป็นเทคโนโลยีคุณภาพสูงทั้งคู่ แต่ทำความเวียนหัวให้ผู้บริโภคว่าจะใช้ของอะไรดี เพราะหนังที่ออกมา 1 เรื่อง มีทั้งแผ่น "เอชดี-ดีวีดี" และ "บลูเรย์" แต่เล่นกับเครื่องเดียวกันไม่ได้
จริงๆ แล้วแผ่น 2 แบบนี้ไม่ได้แพงกว่าดีวีดีมากนัก แต่เครื่องเล่นกับไดรฟ์ที่จะอ่านแพง โดยเครื่องเล่นอยู่ที่ 2 หมื่นขึ้น ส่วนไดรฟ์คอมพิวเตอร์อยู่ที่ประมาณหนึ่งหมื่น
สัญญาณร้ายของ "เอชดี-ดีวีดี" เริ่มก่อเค้าขึ้นต้นปีนี้ เมื่อ "วอร์เนอร์ บราเธอร์ส" ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวู้ด ห้างค้าปลีกอย่าง "วอลมาร์ต" หรือ "เบสต์บาย" และผู้ให้บริการเช่าภาพยนตร์อย่าง "บล็อกบัสเตอร์" และ "เน็ตฟลิกซ์" ต่างหันไปสนับสนุนบลูเรย์กันเป็นแถว
เนื่องจากจุดเด่นความจุข้อมูลที่เหนือกว่าหลายขุมแม้ราคาจะแพงกว่า ปล่อยให้ "ไมโคร ซอฟท์" "ยูนิเวอร์แซล" และ "พาราเมาต์" เป็นผู้สนับสนุน "เอชดี-ดีวีดี" อยู่เพียงไม่กี่บริษัท
ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเหลือโซนี่ยึดหัวหาด คือ จะมีการนำหนังเก่าๆ มาทำใหม่จาก "ดีวีดี" เป็น "บลูเรย์" ราคาดีวีดีก็จะต่ำลงพอๆ กับวีซีดีในปัจจุบัน
ส่วนวีซีดีก็จะต่ำลงอีก หรือหายากแบบวิดีโอ สักพักแผ่น "บลูเรย์" ก็คงจะถูกลงเมื่อตลาดกว้างขึ้น
แต่ผู้ผลิตคงไม่วายปวดหัวกับแผ่นก๊อบ "บลูเรย์" ที่คราวนี้จะออกสตาร์ตกันเต็มพิกัด
คงต้องไล่บี้เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์กันมันมากขึ้นอีกหลายเท่าอย่างเลี่ยงไม่ได้