การแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ ทั้งสายตาสั้น ยาว หรือเอียง มีหลายวิธีด้วยกันทั้งการใส่แว่นตา คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ หรือ เลสิค แต่การทำเลสิค ก็มีข้อจำกัด มิใช่ว่าผู้ที่มีสายตาผิดปกติจะทำได้ทุกราย ดังนั้นการใส่เลนส์เสริม จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่สถานพยาบาลบางแห่งนำมาใช้ในการรักษา ผู้ที่มีปัญหาสายตาแล้วไม่สามารถทำเลสิค หรือใส่คอนแทคเลนส์ได้
น.พ.นพรัตน์ สุจริตจันทร์ จักษุแพทย์ อธิบายว่า การทำเลสิคเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย แต่ก็มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถรักษาความผิดปกติได้ทุกระดับสายตา เช่น คนที่กระจกตาบางจนเกินไป การยิงเลเซอร์จะยิ่งทำให้กระจกตาบางลง ความโค้งของกระจกตาไม่พอดี สายตาสั้นมาก ๆ สายตายาวมาก ๆ หรือมีภาวะตาแห้งมาก ๆ ดังนั้นเลนส์เสริม จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในแก้ไขปัญหา
เลนส์เสริม เป็นเลนส์ขนาดเล็กที่ถูกออกแบบสำหรับใช้ใส่เข้าไปในตาอย่างถาวร มีอยู่หลายชนิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการใส่ ด้านหน้าหรือด้านหลังของรูม่านตา มีขนาดเลนส์ตั้งแต่ลบ 300 ไปจนถึง 2,300 ไดออพเตอร์

การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมเหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นในช่วง 500-2,300 หรือสายตายาว 300-1,200 ผู้ที่ไม่มีโรคตาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะโรคต้อหิน ต้อกระจก หรือโรคจอประสาทตา และไม่มีการบาดเจ็บทางตา ไม่เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคทางร่างกายที่ร้ายแรง รวมทั้งควรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สายตาคงที่แล้ว ขนาดของลูกตาจะต้องมีช่องว่างใหญ่พอ เซลล์ของกระจกตาต้องแข็งแรง เพราะจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อใส่เลนส์เว้าสำหรับสายตาสั้น และเลนส์นูนสำหรับสายตายาว
ผู้ที่มีปัญหาทางสายตาผิดปกติที่มาพบจักษุแพทย์และได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าสภาพตาเหมาะแก่การใส่เลนส์เสริมหรือไม่ โดยจักษุแพทย์จะอธิบายให้เห็นถึงผลดีผลเสียของการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดที่ใส่หน้ารูม่านตา และชนิดที่ใส่หลังรูม่านตา โดยชนิดที่ใส่หน้ารูม่านตาจะมีราคาถูกกว่า
เมื่อคนไข้ตกลงใจแล้วว่าจะเลือกใช้เลนส์ชนิดใส่หน้า หรือ หลังรูม่านตา จะต้องวางเงินมัดจำเพื่อสั่งซื้อเลนส์จากต่าง ประเทศ และก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จักษุแพทย์ต้องยิงเลเซอร์เพื่อเปิดช่องรูม่านตาสำหรับป้องกันไม่ให้ความดันลูกตาสูงขึ้นหลังการผ่าตัด
ในการผ่าตัดจักษุแพทย์จะใช้ยาชาหยอด ตาหรือฉีดยาชา จากนั้นจะค่อย ๆ เจาะช่องเล็ก ๆ ระหว่างตาดำและตาขาวให้มีความยาวประมาณ 5 มม. แล้วสอดเลนส์เสริมที่มีกำลังขยายพอดีเข้าไปในบริเวณที่ต้องการ โดยเลนส์แก้วตาธรรมชาติยังคงสภาพเดิมอยู่ กระบวนการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที หลังการผ่าตัดคนไข้สามารถกลับบ้านได้เลย โดยไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล
ผลข้างเคียงไม่ว่าการผ่าตัดใด ๆ อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ที่ดวงตา กระจกตา หรือจอประสาทตา เช่น การอักเสบ ติดเชื้อ เลนส์ที่ใส่เข้าไปไม่ตรง หรือนาน ๆ ไปอาจทำให้เกิดต้อกระจกแต่พบได้น้อยมากประมาณ 1% เท่านั้น
จะให้คำแนะนำคนที่มีปัญหาสายตาอย่างไร ?
น.พ.นพรัตน์ กล่าวว่า การที่คนมีปัญหาสายตาผิดปกติจะตัดสินใจไปพบจักษุแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาหรือไม่ และด้วยวิธีใดนั้น มันขึ้นอยู่ที่ความสุขในการมองเห็นของแต่ละคน อย่างคนที่สายตาสั้น ถ้าตราบใดที่เขายังมีความสุขกับการมองเห็นก็ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับดวงตา แต่ถ้าต้องขับรถขับรา มีปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สายตาสั้นมาก ๆ ก็ควรได้รับแก้ไข ส่วนสายตายาว มักจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย ดังนั้นการไปพบจักษุแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาก็จะช่วยลดอาการปวดศีรษะลงได้

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์