คุณปรียา อายุ 45 ปี มีอาการปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ ตั้งแต่ยังสาว โดยมักปวดศีรษะข้างเดียว ตุบๆ แล้วคลื่นไส้ พอได้พักหรือนอนหลับ ก็จะหายปวด เคยพบแพทย์แล้วได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นการปวดศีรษะไมเกรน ปกติจะมีอาการปวดเดือนละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีอาการปวดศีรษะถี่ขึ้น ซึ่งรับประทานยาพาราเซตามอลก็ดีขึ้นชั่วคราว คุณปรียาจึงใช้ยาแก้ปวดบ่อยขึ้น เกือบทุกวัน โดยซื้อจากร้านขายยาข้างบ้าน อาการปวดดูเหมือนจะลุกลามขึ้น โดยปวดตื้อๆ ทั้งศีรษะตลอดวัน ต้องได้ยาอยู่ตลอด เวลายาหมดฤทธิ์ก็เริ่มอาการปวดซ้ำ ทำให้นอนไม่หลับ คุณปรียาจึงมาพบแพทย์เพราะต้องการยานอนหลับและยาแก้ปวดที่แรงขึ้น
ในกรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อย เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังแล้วมักซื้อยาใช้เองเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดบ่อยๆ โดยไม่ได้รักษาที่สาเหตุของโรค จะกระตุ้นทำให้ต้องใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้นและถี่ขึ้น กลไกของภาวะปวดศีรษะจากยาแก้ปวดนี้เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท การรับความรู้สึกของสมองที่เปลี่ยนไป ทำให้ไวต่ออาการปวดง่ายขึ้น และเกิดการดื้อยา ทำให้ต้องใช้ยาบ่อยขึ้น และขนาดสูงขึ้นตามลำดับ
โรคนี้พบบ่อยแค่ไหนและเป็นอย่างไร
ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยในผู้ที่มีโรคปวดศีรษะเดิมอยู่แล้ว เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากความตึงเครียด มีการสำรวจโรคนี้ทั่วโลกพบได้ประมาณร้อยละ 1 ในประชากรทั่วไปและการต้องเพิ่มยาแก้ปวดศีรษะปริมาณสูงขึ้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้องมาหาหมอเพื่อการรักษา จริงๆ แล้วทั้งแพทย์และผู้ป่วยเองควรระวังการใช้ยาแก้ปวดอย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
เกณฑ์ในการวินิจฉัยอาการปวดศีรษะจากยามีดังนี้
- มักมีอาการปวดศีรษะมากกว่า 15 วันต่อเดือน โดยมักจะมีอาการหนึ่งในอาการต่อไปนี้คือ ปวดทั้งสองด้าน ปวดแบบกดตึงแน่นตลอดเวลา มีความรุนแรงน้อย-ปานกลาง
- ใช้ยาแก้ปวดมากกว่า 10 วันต่อเดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน
- อาการปวดศีรษะนี้เกิดขึ้นใหม่ หรือแย่ลงทั้งๆ ที่ได้รับยาแก้ปวดอยู่
- อาการปวดศีรษะดีขึ้น ภายใน 2 เดือน หลังหยุดยาแก้ปวดดังกล่าว
ลักษณะของอาการปวดศีรษะจากยาแก้ปวด
- ปวดศีรษะทุกวันหรือเกือบทุกวัน
- อาการปวดจะเปลี่ยนไปตลอด ทั้งในแง่ความรุนแรง ตำแหน่งหรือลักษณะอาการปวด
- มักมีอาการ ถอนยา เมื่อหยุดยาแก้ปวดโดยทันที
- มักมีความอดทนต่ออาการปวดต่ำ จึงใช้ยาบ่อย จากนั้นอาการปวดศีรษะจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
- อาจพบอาการอื่นๆ ร่วมได้ เช่น เหนื่อยเพลีย คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน หงุดหงิด กระวนกระวาย
ซึมเศร้า ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิฯลฯ
ยาแก้ปวดทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดโรคนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวดธรรมดา (เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน) ยาแก้ปวดผสมกับยาอื่น หรือยาแก้ปวดไมเกรน (เช่น Ergotamine, Sumatriptan) บางคนอาจใช้ยาแก้ปวดมากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน หรือใช้ยาอื่นเสริม เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ ยาคลายกังวล ฯลฯ ที่ทำให้อาจเกิดอาการอื่นๆ เพิ่มได้อีก หากหยุดยาทันที หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยภาวะนี้ได้ แพทย์จะพิจารณาถึงแนวทางการรักษาภาวะนี้ และโรคปวดศีรษะเดิมต่อไป
ถ้าเป็นโรคนี้ จะมีแนวทางการรักษาอย่างไร
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา คือความร่วมมือระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เนื่องจากการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือการหยุดยาแก้ปวดที่ใช้ จากนั้นจึงปรับแนวทางการรักษาโรคเดิมที่เป็นสาเหตุ โดยการให้ยาป้องกันอาการปวดศีรษะ เปลี่ยนยาที่ใช้แก้ปวดให้เหมาะสม และปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นอาการปวดซ้ำ
เมื่อวินิจฉัยตามกระบวนการนี้แล้ว ในกรณีของคุณปรียาหลังจากได้พบแพทย์แล้ว แพทย์ได้แนะนำให้หยุดยาแก้ปวดทั้งหมดทันที ซึ่งคุณปรียาค่อนข้างกังวลว่าจะได้ผลหรือไม่ แพทย์จึงปรับความเข้าใจถึงวิธีการรักษาแนวทางใหม่ ทำให้คุณปรียาสบายใจขึ้น หลังจากหยุดยาไป 3 วัน อาการปวดของคุณปรียาที่เคยปวดทุกวัน เริ่มห่างออก คุณปรียาแปลกใจที่อาการปวดลดลงมากโดยไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดเลย แต่มีอาการคลื่นไส้และนอนไม่หลับ ซึ่งบรรเทาได้ด้วยยาที่แพทย์ให้มา หลังจากสัปดาห์แรกคุณปรียาได้เริ่มยาป้องกันไมเกรน โดยรับประทานยาทุกวันก่อนนอน ทำให้อาการปวดศีรษะเดิมลดลงมากจนแทบไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดอีกเลย
ในช่วงแรกที่หยุดยาทันทีนั้น แพทย์จะให้ยาแก้ปวดชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์ยาว เพื่อบรรเทาชั่วคราวร่วมกับยารักษาตามอาการ ในกรณีที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก อาจต้องนอนโรงพยาบาลช่วงสั้นๆ เพื่อให้น้ำเกลือและยาฉีดแก้ปวดถ้าจำเป็น อาจมีอาการปวดกำเริบขึ้นได้ในช่วงนี้ แต่โดยทั่วไปจะไม่รุนแรงกว่าการปวดเดิมนักและปวดไม่เกิน 1 สัปดาห์ จากนั้นแพทย์จะให้ยาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันอาการปวดไมเกรนในระยะยาว ยาป้องกันนี้มักไม่มีฤทธิ์แก้ปวดโดยตรง แต่จะปรับสารเคมีสื่อประสาทในสมองให้อาการปวดห่างออก ไม่รุนแรงนัก และตอบสนองต่อยาแก้ปวดได้ดีขึ้นในอนาคต
นอกจากการรักษาด้านยาแล้ว การรักษาโดยการไม่ใช้ยา ก็มีความสำคัญเช่นกัน ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท หมัก ดอง สุรา ช็อกโกแลต หรืออาหารอื่นที่ตนเองแพ้ ควรนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง หลับและตื่นให้ตรงเวลาทุกวัน ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อผ่อนคลายสมองและกล้ามเนื้อ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น อากาศเปลี่ยนแปลงหรือมีแดดจ้า
อย่างไรก็ตามบางคนอาจเกิดโรคนี้ซ้ำได้ หากกลับไปใช้ยาแก้ปวดเดิมอีก หรือหยุดยาป้องกันก่อนกำหนด ดังนั้นจึงควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องครับ
์