อะแคนทะมีบา... เสี่ยงตาบอด


 

 

แม้วัยรุ่นจะนิยมใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อความสวยงามของดวงตา หรือเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ถ้าไม่ดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ให้ดี อาจถึงกับตาบอดได้ จากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นอย่าง “ อะแคนทะมีบา ” ซึ่งเข้ามารุกรานและทำอันตรายต่อดวงตา ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ พบว่า มีกระจกตาอักเสบ เนื่องจากติดเชื้ออะแคนทะมีบาก่อให้เกิดอาการ ดังนี้ ปวดตามาก สู้แสงไม่ได้ กระจกตาขุ่น ฝ้า เป็นแผลอักเสบที่กระจกตา ในบางรายดูคล้ายอักเสบเหมือนติดเชื้อไวรัสเริม


การรักษา

เนื่องจากเชื้ออะแคนทะมีบา เป็นสาเหตุสำคัญของอาการกระจกตาอักเสบ และยังส่งผลให้เกิดแผลที่ดวงตา ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ มีความอดทนต่อยาที่ใช้รักษาทุกชนิด ทำให้ต้องหยอดยาเป็นเวลานาน และในบางรายอาจไม่ตอบสนองต่อยา เป็นผลให้เชื้ออาจลุกลามไปทั่วทั้งกระจกตา จนเกิดอาการอักเสบทั้งลูกตาได้ เนื่องจากเชื้ออะแคนทะมีบาสามารถมีชีวิตอยู่ในรูปแบบของซีสต์ได้นานหลายสิบปี ถ้ามีอาการอักเสบมาก จักษุแพทย์จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้ แต่ก็สามารถกลับมามีเชื้อชนิดนี้ได้อีก จึงต้องเฝ้าติดตามดูอาการเป็นเวลานาน และในบางรายอาจมีอาการหนักถึงขั้นที่ต้องได้รับการผ่าตัดเอาลูกตาออกในที่สุด

ทำอย่างไรไม่ติดเชื้อ

  1. ล้างมือทำความสะอาดโดยการฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง ก่อนหยิบจับคอนแทคเลนส์
  2. น้ำยาทำความสะอาดล้างเลนส์ ควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือน ไม่เก่าเก็บเกิน 2 เดือนหลังจากเปิดใช้แล้ว
  3. ขัดถูล้างเลนส์ทั้ง 2 ด้านเป็นเวลาพอสมควร ตลอดจนล้างขัดถูตลับแช่เลนส์ให้สะอาดทุกครั้งก่อนใส่น้ำยาแช่เลนส์ที่เปลี่ยนใหม่ทุกวัน เพราะโรคนี้มักพบในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่มบ่อยกว่าชนิดแข็ง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ล้างทำความสะอาดเลนส์ทุกวันหรือใส่นอน
  4. ควรนำตลับแช่เลนส์อบไมโครเวฟทุก 2-3 สัปดาห์ และเปลี่ยนตลับใหม่ทุก 2-3 เดือน เนื่องจากเชื้อโรคนี้อยู่ทนทาน

เมื่อมีอาการหรือพฤติกรรมต่อไปนี้...อย่าใส่คอนแทคเลนส์

  1. เปลือกตาอักเสบ
  2. ตาแห้ง
  3. เป็นโรคภูมิแพ้
  4. ไม่มีเวลาดูแลล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์

ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจใส่คอนแทคเลนส์ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจประเมินหาความผิดปกติหรือความเสี่ยง ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ละเลยได้ และในกรณีที่คอนแทคเลนส์หล่นลงพื้นหรือตากอากาศจนแห้งแข็ง ไม่ควรนำมาใช้อีก แม้จะยังไม่หมดอายุการใช้งาน เนื่องจากเสี่ยงกับการติดเชื้อ

แหล่งที่มา : ผู้จัดการออนไลน