ออกกำลังกายมากไปก็ไม่ดี


ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพออกมาระบุตรงกันว่า ในแต่ละครั้งคนเราไม่ควรออกกำลังกายเกินกว่า 60 นาที (หรือ 75 นาที สำหรับผู้มีประสบการณ์) และ "ต้อง" พักอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ เพราะทุกครั้งที่ออกกำลังกายต้องอาศัย “ ไกลโครเจน” ถ้าไกลโครเจนหมดลง ร่างกายก็จะละลายกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงานเสริม ซึ่งจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ตามทฤษฎีแล้ว คนทั่วไปจะมีไกลโครเจนเพียงพอต่อกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

  1. กิจกรรมประเภทใช้พลังงานแบบ Aerobic ที่มีความเข้มข้นระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูง ครั้งละ 90-180 นาที
  2. กิจกรรมประเภทใช้พลังงานแบบ Anaerobic เช่น การยกเวท ครั้งละ 30-45 นาที
  3. กิจกรรมประเภท Interval ที่ใช้พลังงานแบบ Aerobic ปนกับ Anaerobic ครั้งละ 45-90 นาที

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นตัวเลขทางทฤษฎีสำหรับ “คนปกติ” ที่ทานอาหารอย่างเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หมายความว่าร่างกายได้เติมเต็มไกลโครเจนไว้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ส่วนคนที่ "กำลังลดความอ้วน" ซึ่งปกติต้องควบคุมอาหารโดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรต ทำให้ปริมาณไกลโครเจนลดลง ย่อมไม่สามารถใช้ตัวเลขดังกล่าวได้

ดังนั้นเวลาไปออกกำลังกายตามที่ต่างๆ หากคุณอยู่ในช่วงลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน เมื่อเห็นคนอื่นออกกำลังกายกันนาน ๆ อย่าพยายามทำตามจะดีกว่า

สำหรับเหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาบอกว่า ปริมาณที่พอเหมาะในการออกกำลังกายทุกประเภท คือครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง และควรพักอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ มีดังนี้…

  1. แม้คุณจะมีพลังงานเพียงพอต่อการออกกำลังกายแต่ละครั้ง แต่ปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกายจะเปลี่ยนไป ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้ และร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเครียดออกมา เรียกกันว่า “ คอร์ติโซล” (cortisol) ทำให้มีผลเสียตามมามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกล้ามเนื้อบาดเจ็บ การพักอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ จะช่วยปรับลดฮอร์โมนดังกล่าวให้ลงมาอยู่ในระดับที่สมดุล
  2. การหยุดอย่างน้อย 1 วันเป็นการพักร่างกายให้ฟื้นตัว พร้อมจะทำกิจกรรมต่อไปอย่างสม่ำเสมอ
  3. หากคุณออกกำลังกายนานๆ โดยไม่มีวันพัก ร่างกายจะคุ้นเคยกับการออกกำลังกายดังกล่าวเร็วกว่าที่ควรจะเป็น การเผาผลาญพลังงานในกิจกรรมนั้นๆ ก็น้อยกว่าที่ควรจะเป็นตามไปด้วย

ไม่น่าเชื่อแต่ต้องเชื่อ ว่าหลักการแห่งความพอเพียงและสมดุล ก็สามารถใช้กับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งที่มา : http://women.sanook.com