HOME    

 

        

 

ที่มาของโครงการ

พพ. มีภารกิจหลักด้านการอนุรักษ์พลังงาน จึงจัดทำโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมโดยโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยได้รับงบประมาณดำเนินการระหว่างปี 2546-2551 เป็นจำนวนรวม 1,261 แห่ง ซึ่งผลดำเนินงานมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับผลประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม และบุคลากรของโรงงานและอาคารได้รับการพัฒนาสามารถดำเนินการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างยั่งยืน

สำหรับงบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2552 นี้ จะส่งเสริมและสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นจำนวน 550 แห่ง เพื่อดำเนินการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศ คือ “ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ทั้งในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม บริการ และขนส่ง โดยรณรงค์ให้เกิดวินัยและสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพฯ”

 

 


     



 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อดำเนินการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมโดยโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้บรรลุผลสำเร็จโดยมีผลการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังจบโครงการ
  2. เพื่อพัฒนาและส่งเสริมบทบาทของบุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ ให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องมาตรฐานการจัดการอนุรักษ์พลังงานและให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและดำเนินการในการบริหารจัดการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
  3. จัดทำรายงานการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม และเอกสารกรณีตัวอย่างเฉพาะจุดการอนุรักษ์พลังงานที่เกิดขึ้นจริงในโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ เพื่อเผยแพร่เป็นแนวทางการอนุรักษ์พลังงานต่อไป

     

ขอบเขตการดำเนินการ

กลุ่มที่ปรึกษาดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการดังต่อไปนี้

  1. ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมโดยโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (กลุ่มจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานี) จำนวน 55 แห่ง

  2. การดำเนินงานจะดำเนินการให้ได้มาตรการอนุรักษ์พลังงานแห่งละไม่น้อยกว่า 5 มาตรการ ซึ่งแต่ละมาตรการต้องมีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 2 ปี หรือมากกว่ากรณีมีมาตรการที่ปรับปรุงจริงในระหว่างการดำเนินการ โดยมีผลประหยัดพลังงานเมื่อจบโครงการเฉลี่ยต่อแห่งไม่น้อยกว่า 8 toe/ปี หรือผลรวมโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 440 toe/ปี ทั้งนี้ต้องมีผลประหยัดพลังงานแต่ละแห่งไม่น้อยกว่า 2.5 toe/ปี

  3. กลุ่มที่ปรึกษาจะเสนอเอกสารและสื่อ (แผ่นใส ,สไลด์ ,CD ฯลฯ) ที่ใช้ประกอบการสัมมนา/อบรม ได้แก่ แผนการสัมมนา/อบรม รายละเอียดหัวข้อและเนื้อหาวิชาที่จะใช้อบรม รูปแบบการประเมินผล รายชื่อวิทยากรพร้อมประวัติ ตารางการสัมมนา/อบรม หัวข้อวิชาและหลักสูตร (จะใช้คู่มือหลักสูตรการอนุรักษ์พลังงานตามที่ พพ. กำหนด) จำนวน 5 ชุด พร้อมสำเนาสื่อประกอบการอบรม และจัดส่งให้ พพ. พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการจัดสัมมนา/อบรมภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา

  4. ดำเนินการคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ ที่ไม่เป็นโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุม และมีศักยภาพในการประหยัดพลังงาน สถานประกอบการแต่ละแห่งต้องมีคณะทำงานที่มีความพร้อม ที่จะดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานแห่งละไม่น้อยกว่า 3 คน โดยกลุ่มที่ปรึกษาต้องส่งรายชื่อสถานประกอบการพร้อมใบสมัคร และหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการพร้อมรายชื่อคณะทำงาน แห่งละ ไม่น้อยกว่า 3 คน และรายชื่อผู้เข้ารับการสัมมนา/อบรม แห่งละไม่น้อยกว่า 2 คน และไม่เกิน 4 คน หนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการต้องลงนามโดยเจ้าของสถานประกอบการหรือกรรมการบริหาร หรือผู้บริหารระดับผู้จัดการผู้มีอำนาจ พร้อมประทับตราของสถานประกอบการ (ถ้ามี) โดยกลุ่มที่ปรึกษาต้องตรวจสอบใบสมัครและหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการให้ถูกต้อง พร้อมลงนามรับรองโดยกลุ่ม ที่ปรึกษา และจัดทำเป็นรายงานจำนวน 5 ชุด (ฉบับจริง 1 ชุด และสำเนา 4 ชุด) เพื่อส่งให้ พพ. พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการจัดสัมมนา/อบรม ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา

  5. ดำเนินการจัดสัมมนา/อบรม ภายใน 75 วัน นับตั้งแต่วันลงนามในสัญญา เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการจัดการพลังงาน และเทคนิคการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน อุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจให้แก่เจ้าหน้าที่และคณะทำงานของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเนื้อหาการให้ความรู้ดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการการใช้พลังงาน เทคนิคการอนุรักษ์พลังงานทางด้านพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อนและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน จำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนา/อบรม ไม่น้อยกว่า 130 คน ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 วัน หากกลุ่มที่ปรึกษาไม่สามารถจัดสัมมนาตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด กลุ่มที่ปรึกษาต้องชี้แจงเหตุผลให้ พพ. ทราบพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้เข้ารับการสัมมนาทราบโดยเร็วที่สุด

  6. ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์พลังงานของกลุ่มที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำแก่คณะทำงานของสถานประกอบการ ด้วยตนเองแต่ละแห่งอย่างน้อย 4 ครั้ง/แห่ง ครั้งละ 1 วัน วันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง โดยในครั้งที่ 1 ต้องมี ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์พลังงาน เข้าไปดำเนินการอย่างน้อย 2 คน และในครั้งต่อไปจำนวน ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์พลังงาน เข้าตามความเหมาะสมของเนื้องาน และในแต่ละครั้งควรมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 10 วัน โดย ดำเนินงานร่วมกับคณะทำงานของผู้ประกอบการเพื่อระดมสมองค้นหามาตรการที่จะช่วยประหยัดพลังงาน เพื่อให้การอนุรักษ์พลังงานสามารถบรรลุผลสำเร็จ และจะต้องรายงานการเข้าปฏิบัติงานทุกครั้งตามเอกสารประกอบที่ 2

  7. ให้คำปรึกษาช่วยเหลือและติดตามผลการดำเนินงาน การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานตลอดจนแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น

  8. สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนให้กับคณะทำงานหรือบุคลากรของสถานประกอบการ เมื่อ ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์พลังงานเข้าไปดำเนินการในสถานประกอบการ

  9. ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา/อุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินโครงการ เพื่อกำหนดแนวทางการปรับปรุง พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการขยายผลโครงการต่อไป

  10. จัดทำรายงานการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมเป็นรายแห่ง ซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้นของสถานประกอบการ วิธีการและขั้นตอนการทำงาน เอกสารรายงานการเข้าปฏิบัติงานของ ผู้ปฏิบัติงานอนุรักษ์พลังงานทุกครั้ง สรุปผลการดำเนินงาน รวมทั้งจัดทำเอกสารกรณีตัวอย่างเฉพาะจุดการอนุรักษ์พลังงานที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละสถานประกอบการพร้อมรูปภาพประกอบที่ชัดเจน ซึ่งเอกสารกรณีตัวอย่างอย่างน้อยประกอบด้วยสภาพก่อนปรับปรุง วิธีการตรวจสอบวิเคราะห์ปรับปรุง สภาพหลังปรับปรุง ผลประหยัดที่เกิดขึ้น เงินลงทุนและระยะเวลาคืนทุน โดยจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หน้า (A4) ต่อ 1 กรณีตัวอย่าง พร้อมทั้งรวบรวมจัดทำเป็นหมวดหมู่พร้อมคำอธิบายที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้ ทั้งนี้เอกสารกรณีตัวอย่างจะต้องมีรายละเอียดและหัวข้อเป็นไปตามเอกสารประกอบที่ 3

  11. ประเมินผลการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมและระบบการจัดการพลังงาน ในครั้งสุดท้ายของการเข้าให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการ รวมทั้งการวัดผลการดำเนินงานที่แสดงความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการและแสดงความยั่งยืนของโครงการ

  12. จัดทำวีดีทัศน์ความยาวไม่น้อยกว่า 5 นาที/แห่ง ที่แสดงขั้นตอนและผลการดำเนินงานของโรงงานและอาคารที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 4 แห่ง โดยเนื้อหาวีดีทัศน์อย่างน้อยต้องประกอบด้วยบทสัมภาษณ์จากผู้บริหารที่แสดงถึงผลสำเร็จของการเข้าร่วมโครงการ รายละเอียดการดำเนินงานและผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อยกว่า 2 มาตรการ ภาพของมาตรการที่ดำเนินการและกิจกรรมด้านการ จัดการพลังงาน

  13. จัดสัมมนาแถลงผลการดำเนินงาน จำนวน 1 ครั้ง ก่อนส่งร่างรายงานฉบับสุดท้าย และดำเนินการตามข้อ 1 ถึง 13 ในหัวข้อ 3 แล้วเสร็จ และ พพ. เห็นชอบแล้ว มีผู้เข้าร่วมสัมมนาไม่น้อยกว่า 130 คน โดยเชิญตัวแทนของสถานประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ซึ่งแสดง ผล สำเร็จของการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วมของมาตรการที่ดำเนินการแล้ว มาตรการที่เป็นศักยภาพ พร้อมแสดงผลการประหยัดพลังงานที่เกิดขึ้นจริงภายหลังจบโครงการ โดยแยกประเภทพลังงานไฟฟ้า ( kWh/ ปี , ktoe/ ปี และ บาท/ปี) พลังงานความร้อน ( MJ/ ปี , ktoe/ ปี และ บาท/ปี) และด้านอื่น ๆ เช่นการลดของเสีย (บาท/ปี) เป็นต้น รวมทั้งแสดงเงินลงทุน (บาท) และระยะเวลาคืนทุน (ปี) ของมาตรการที่ดำเนินการแล้ว สำหรับมาตรการที่ ที่เป็นศักยภาพ ให้แสดงผลการประหยัดที่คาดว่าจะได้รับภายหลังการดำเนินงานตามรายละเอียดที่กล่าวไว้ข้างต้น

  14. กลุ่มที่ปรึกษาจะต้องจัดหาสถานที่สัมมนาที่เหมาะสมและคมนาคมสะดวก พร้อมทั้งอาหารกลางวัน เครื่องดื่มและอาหารว่างที่มีคุณภาพและพอเพียงให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนา และไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน

  15. ในกรณีกลุ่มที่ปรึกษาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา พพ. มีสิทธิให้กลุ่มที่ปรึกษาปรับปรุง ตามข้อเสนอแนะ และถ้ากลุ่มที่ปรึกษาไม่ปฏิบัติตาม พพ. มีสิทธิให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน จนกว่าจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไข เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

  16. หากกลุ่มที่ปรึกษาเกิดปัญหาอุปสรรคไม่สามารถดำเนินการได้ตามขอบเขตการดำเนินงานจะต้องชี้แจงเหตุผลให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบ เพื่อการแก้ไขปรับปรุงและพิจารณาเห็นชอบ เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ

 


 

| top | close |