HOME    

 
   

ที่มาของโครงการ

จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 ทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยมุ่งเน้นในเรื่องของการกำหนดให้มีมาตรการอนุรักษ์พลังงาน โดยการสำรวจ ตรวจวัดและวิเคราะห์สภาพการใช้พลังงานในโรงงานและอาคาร มาเป็นการนำระบบบริหารและการจัดการพลังงานที่ได้อ้างอิงรูปแบบและวิธีการที่เป็นม าตรฐานสากลมาใช้ เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานต่อไปในอนาคต โดยในกฎหมายมาตรา 9(1),(2) สำหรับโรงงานควบคุม และมาตรา 21(1),(2) สำหรับอาคารควบคุมได้กำหนดหน้าที่ของเจ้าของโรงงานควบคุมและเจ้าของอาคารควบคุมต้องปฏิบัติ ดังนี้

 
  1. ต้องดำเนินการจัดให้มีการอนุรักษ์พลังงานตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการการจัดการพลังงานที่กำหนดในกฎกระทรวง
  2. จัดให้มีผู้รับผิดชอบด้านพลังงานที่มีคุณสมบัติและจำนวนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ปัจจุบันมีโรงงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นโรงงานควบคุมแล้วจำนวน 3,500 แห่ง และมีอาคารที่ขึ้นทะเบียนเป็นอาคารควบคุมแล้ว จำนวน 1,900 แห่ง แยกเป็นอาคารภาคเอกชนจำนวน 1,100 แห่ง อาคารราชการ รัฐวิสาหกิจจำนวน 800 แห่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดข้างต้น โดยที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย ประกอบกับ พพ. มีเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการในการกำกับ ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของโรงงาน/อาคารควบ คุมมีจำนวนน้อย และต้องมีภารกิจที่ต้องสนับสนุนในกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานในด้านอื่น ๆ ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาหน่วยงานภายนอกมาช่วยดำเนินการในลักษณะของที่ปรึกษาภายใน พพ. เพื่อให้บรรลุภารกิจตามที่กฎหมายกำหนด

 

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  • เป็นตัวแทนของ พพ. ในการบริหารงานให้โรงงาน/อาคารควบคุม ดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และต่อเนื่อง
  • ตรวจสอบผลการดำเนินงานของโรงงาน/อาคารควบคุมในกิจกรรมต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
  • ช่วย พพ. ผลักดันให้โรงงาน/อาคารควบคุม เข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน ที่ก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานตามที่ พพ. จัดทำขึ้น
  • ช่วย พพ. ในการตรวจสอบความถูกต้องของกิจกรรมที่โรงงาน/อาคารควบคุมต้องปฏิบัติตามกฎหมายและติดตามประเมินผลการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมถึงการติดตามตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้ พพ. พิจารณาดำเนินคดี

 

     

ขอบเขตการดำเนินการ

เป็นตัวแทน พพ. และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พพ. ใน การบริหารงานให้โรงงาน/อาคาร ควบคุมดำเนินงานตามกฎหมายได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และต่อเนื่อง และตรวจสอบ กิจกรรมต่าง ๆ ของโรงงาน/อาคาร ควบคุมที่ต้องส่งให้ พพ. ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นจำนวน 7 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการฯในโรงงานควบคุม จำนวน 4 โครงการ และโครงการฯในอาคารควบคุม จำนวน 3 โครงการ โดยแต่ละโครงการจะมีขอบเขตการ ดำเนินงาน ดังนี้

  • กิจกรรมสนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมาย

    • ตรวจสอบสถานะภาพโรงงาน/อาคารควบคุมจากฐานข้อมูลของ พพ. ว่าได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ครบถ้วนหรือไม่ ตามรายชื่อโรงงาน/อาคารควบคุมที่ได้รับมอบหมายจาก พพ.

    • ติดต่อเพื่อเข้าเยี่ยมพบผู้บริหารโรงงาน/อาคารควบคุม หรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการใช้พลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุมหรือผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำและผลักดันให้โรงงาน/อาคารควบคุมปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ให้ครบถ้วน ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นต้องเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยต้องมีการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงานครบตามจำนวนที่กฎกระทรวงกำหนดและส่งรายงานการจัดการพลังงานหรือรายงานการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้ พพ. ถึงจะสามารถเบิกจ่ายเงินได้ ทั้งนี้ พพ. อาจมอบหมายให้เข้าพบผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องของโรงงาน/อาคารควบคุม หรือ ได้ตามความเหมาะสม หรือ หากมีการร้องขอจากโรงงาน/อาคารควบคุม โดยก่อนการเข้าพบต้องได้รับความเห็นชอบจาก พพ. ก่อน

    • ติดตามและประเมินผลการใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงานของโรงงาน/อาคารควบคุมที่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและโครงการ/กิจกรรมที่ พพ. จัดทำขึ้น (ถ้ามี)

    • จัดประชุม/สัมมนา เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมการ อนุรักษ์พลังงานฉบับแก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้กับผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน และทีมงานด้านอนุรักษ์พลังงานของโรงงาน/อาคารควบคุมอย่างน้อย 6 ครั้ง ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุม/สัมมนาจาก โรงงาน/อาคารควบคุมทั้งหมดที่รับผิดชอบอย่างน้อย โรงงาน/อาคารควบคุม ละ 2 คน โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือนนับจากวันลงนามในสัญญาจ้าง

    • จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่/คู่มือการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีรูปเล่มสวยงามขนาด A4 ปก 4 สีพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตหนาไม่น้อยกว่า 120 แกรม เนื้อในกระดาษปอนด์หนาไม่น้อยกว่า 100 แกรม เพื่อแจกให้กับผู้เข้าร่วมประชุม/สัมมนา โดยมีรายชื่อและจำนวนพิมพ์ดังนี้

      • คู่มือคำอธิบายพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 จำนวน 1,500 เล่ม
      • คู่มือพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน จำนวน 1,500 เล่ม
      • คู่มือการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน จำนวน 1,500 เล่ม
      • คู่มือการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานสำหรับผู้ตรวจสอบพลังงานจำนวน 1,500 เล่ม

    • ติดตาม กระตุ้นเตือนล่วงหน้า และออกหนังสือเร่งรัดให้ โรงงาน/อาคารควบคุม ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด

    • จัดทำรายงานการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของ โรงงาน/อาคารควบคุม (Feedback Report) ตามรูปแบบที่ พพ. กำหนด และวิเคราะห์กำหนดเป็น Baseline การใช้พลังงานในปี 2552

    • วิเคราะห์และปรับปรุงวิธีการ ขั้นตอน และแนวทางในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ และบังเกิดผลสำเร็จสูงสุด

    • ดำเนินงานในเรื่องอื่น ๆ ตามที่ พพ. มอบหมาย

  • กิจกรรมตรวจผลการดำเนินงานตามกฎหมาย

    • ตรวจผลการดำเนินงานของ โรงงาน/อาคารควบคุม ในการปฏิบัติตามกฎหมาย และเรื่องอื่น ๆ ที่ พพ . มอบหมายให้ครบถ้วน ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ พพ . กำหนดในกิจกรรมดังนี้

      • กิจกรรมที่ 1 การตรวจการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน

      • กิจกรรมที่ 2 การตรวจการรับรองรายงานการจัดการพลังงาน ซึ่งในรายงาน ต้องประกอบด้วยกิจกรรมย่อยตามที่ระบุในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการพลังงาน ดังนี้

        • การจัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน
        • การประเมินสภาพการจัดการพลังงานเบื้องต้น
        • การกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงาน
        • การประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน
        • การกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน
        • การดำเนินการตามแผน การตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมาย แผนอนุรักษ์พลังงาน
        • การตรวจติดตามและประเมินการจัดการพลังงาน
        • การทบทวน วิเคราะห์และแก้ไขข้อบกพร่องของการจัดการพลังงาน

      • กิจกรรมที่ 3 การตรวจสอบและให้การรับรองรายงานการจัดการพลังงานในฐานะผู้ตรวจสอบพลังงาน (ถ้ามี)

      • กิจกรรมที่ 4 การตรวจกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่ พพ. มอบหมาย

    • นอกจากตรวจผลการดำเนินงานของโรงงาน/อาคารควบคุมดังกล่าวข้างต้นแล้ว ให้จัดทำบันทึกสรุปผลการตรวจ หนังสือแจ้งผลและอื่น ๆ ตามที่ พพ. กำหนด เพื่อ พพ. จะใช้ในการ พิจารณานำเสนอขออนุมัติ/เห็นชอบจากผู้บริหาร พพ. ต่อไป รวมถึงการบันทึกผลการตรวจลงในฐานข้อมูล ตามที่ พพ. กำหนด และสแกนเอกสารเก็บไว้ในไฟล์อิเล็คทรอนิคส์ตามวิธีการที่ พพ. กำหนด

    • กิจกรรมใดๆ ที่ยังไม่มีแนวทางและหลักเกณฑ์การตรวจ ที่ปรึกษาต้องเสนอแนวทาง แล ะหลักเกณฑ์การตรวจให้ พพ. พิจารณาก่อน สำหรับหลักเกณฑ์การตรวจสอบในกิจกรรมที่มีอยู่เดิมก็สามารถนำเสนอหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจให้เหมาะสม และชัดเจนยิ่งขึ้นได้ตามความเหมาะสม

    • ในกรณีผลการตรวจของที่ปรึกษามีข้อสงสัย หรือมีการโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องที่ปรึกษาต้องให้ผู้ชำนาญการด้านพลังงานและผู้เกี่ยวข้องของ ที่ปรึกษามาชี้แจงและนำเสนอข้อเท็จจริงให้ พพ. พิจารณาและให้ถือผลตัดสินของ พพ. เป็นอันสิ้นสุด

    • ในกรณีปัญหาอุปสรรคต่างๆของโรงงาน/อาคารควบคุม และปัญหาในการดำเนินงานของ พพ. และผู้เกี่ยวข้อง ให้ทำการรวบรวม ประมวลและวิเคราะห์ เสนอแนะแนวทางปรับปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป

    • ที่ปรึกษาต้องดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามกฎหมายรวมทั้งให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ พพ. และโรงงาน/อาคารควบคุม เช่น เป็นผู้จัดประชุมที่เกี่ยวกับกิจกรรมการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาเป็นผู้ตรวจสอบพลังงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่ พพ. มอบหมาย

 

| top | close |