HOME    

 
 
   

ที่มาของโครงการ

 

ปัจจุบันมีกิจกรรมหลายประเภทที่จำเป็นต้องใช้น้ำร้อน เช่น โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย เป็นต้น สำหรับการผลิตน้ำร้อนได้มีการใช้พลังงานหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้มโดยใช้พลังงานจากก๊าซและไฟฟ้า หรือหากเป็นกิจกรรมขนาดใหญ่จะใช้หม้อต้ม (Boiler) ที่ใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง

การใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตน้ำร้อน ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมกับคุณค่าของพลังงานไฟฟ้าทางเลือกหนึ่งของการผลิตน้ำร้อน คือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และความร้อนเหลือทิ้ง (waste-heat) เช่น ความร้อนทิ้งจากชุดระบายอากาศของเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น หรือปล่องไอเสีย เป็นต้น

สำหรับกิจการโรงแรม โรงพยาบาล อาคารธุรกิจหรือโรงงานบางแห่งนั้น สามารถใช้ระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานกับระบบผลิตน้ำร้อนจากความร้อนเหลือทิ้ง เพราะกิจการเหล่านี้ล้วนมีการใช้ระบบปรับอากาศ เครื่องทำความเย็น เตาเผา หม้อไอน้ำ ที่มีความร้อนเหลือทิ้งอยู่มาก การใช้พลังงานผสมผสานดังกล่าว สามารถลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงหรือพลังงานไฟฟ้า และสิ่งที่สำคัญ คือ เป็นการใช้พลังงานธรรมชาติและพลังงานเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง

 

 

 

 

 

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตน้ำร้อนในกิจการธุรกิจภาคต่างๆ
  2. เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใช้ระบบผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแพร่หลาย

 

     

ขอบเขตการดำเนินการ

งานกำหนดขอบเขตและข้อกำหนดการให้การสนับสนุนลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน

  • สำรวจข้อมูลการใช้ การผลิต ปัญหาและอุปสรรค พร้อมข้อเสนอแนะ ระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจาก พพ. เพื่อนำมาเป็นแนวทางปรับปรุงพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอนและวิธีการในการสนับสนุน

  • รวบรวมและสรุปแนวทางการให้การสนับสนุนและส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตน้ำร้อนจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จและที่ไม่สำเร็จ พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียเพื่อนำมาเป็นแนวทางปรับปรุงพิจารณาแก้ไข

  • ปรับปรุงและกำหนดแนวทางการออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) ที่ใช้ประกอบการสนับสนุน

  • ปรับปรุงและกำหนดแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ที่ใช้ประกอบการสนับสนุน

  • ปรับปรุงการกำหนดและจำแนกขนาด กำลัง ปริมาณการใช้น้ำร้อนของผู้ประกอบการที่จะให้การสนับสนุน

  • ศึกษาและกำหนดแนวทางการจำแนกแผงรับรังสีดวงอาทิตย์ตามคุณสมบัติ เพื่อกำหนดอัตราการสนับสนุน

  • ศึกษาและกำหนดแนวทางการจำแนกอุปกรณ์ประกอบระบบผลิตน้ำร้อนแสงอาทิตย์ ได้แก่ ถังเก็บน้ำร้อน ท่อส่วนผลิตน้ำร้อน ท่อต่อเชื่อม Air Vent และอื่นๆ ตามคุณสมบัติเพื่อกำหนดอัตราการสนับสนุน

  • ศึกษาและประเมินข้อดีข้อเสียในเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และวิธีการในการสนับสนุนเงินลงทุนที่ใช้ในปี 2551

  • ปรับปรุงและจัดทำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และวิธีการในการสนับสนุนเงินลงทุนแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการ ประสานงาน และแผนการเบิกจ่ายเงินแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ

  • ปรับปรุงและจัดทำแบบฟอร์มใบสมัครการขอรับการสนับสนุนลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสานฯ/เอกสารเผยแพร่/คู่มือการให้การสนับสนุน

  • ปรับปรุงและจัดทำแบบประเมินผลระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับระบบฯ ที่ได้รับการสนับสนุนติดตั้งเสร็จแล้ว

  • ปรับปรุงและกำหนดแผนการตลาดที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์โครงการและการเชิญชวนสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ

  • ปรับปรุงและจัดทำแผนการสัมมนาเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการฯ

  • ปรับปรุงและจัดทำโครงสร้างและรายชื่อคณะกรรมการพิจารณาการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ คุณสมบัติ ความเหมาะสม พร้อมทั้งหน้าที่รับผิดชอบ

  • นำเสนอ พพ. เพื่อให้ความเห็นชอบ

 

งานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการฯและกำหนดแนวทาง วิธีการให้การสนับสนุนติดตั้งระบบฯ โดยการจัดสัมมนาตามแผนที่ได้จัดทำ โดยมีสถานประกอบการ เข้าร่วมสัมมนา รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 200 แห่ง โดยจัดประชุมในพื้นที่ กรุงเทพฯ และหรือ ภาคตะวันออก และหรือภาคเหนือ และหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหรือภาคใต้ รวมไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง โดยแต่ละครั้ง มีจำนวนกิจการฯ เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 50 แห่ง โดยอย่างน้อยต้องมีเนื้อหาและรายละเอียดประกอบการสัมมนา ดังนี้

 
  • การชี้แจงรายละเอียดโครงการและแนวทางวิธีการให้การสนับสนุน

  • เอกสารสิ่งพิมพ์สรุปสาระสำคัญของโครงการฯ

  • แบบใบสมัครการเข้าร่วมโครงการฯ

  • วีดีทัศน์แสดงรายละเอียดระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน

  • เปิดบูธแสดงผู้ผลิตจำหน่ายระบบทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์

  • จัดแสดงผลงานที่ได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตน้ำร้อนที่ผ่านมา

  • จัดเวทีเสวนาแสดงผลการติดตั้งใช้งานระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์จากผู้ประกอบการที่ พพ. ให้การสนับสนุน

งานบริหารจัดการให้การสนับสนุนลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน

  • ดำเนินการตามแผนการตลาดในการเชิญชวนสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ

  • คัดเลือกและรวบรวมผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ระบบผสมผสาน โดยแต่ละสถานประกอบการต้องมีความพร้อมในด้านการลงทุน และต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง เช่น กรรมการผู้จัดการหรือเทียบเท่า โดยต้องมีหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการฯจากผู้บริหารระดับสูงหรือเทียบเท่า ของแต่ละสถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือก ให้คณะกรรมการ พพ. พิจารณา

  • พิจารณาข้อเสนอการขอรับการสนับสนุนลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบผสมผสาน จากผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับการสนับสนุน

  • ตรวจสอบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ขั้นตอน และวิธีการในการขอรับการสนับสนุน จากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตลอดจนการประสานงานกับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ และตรวจสอบผลการติดตั้งระบบฯของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ

  • สรุปผลการพิจารณาตามข้อกำหนดรายละเอียดและข้อกำหนดการให้การสนับสนุนลงทุนติดตั้งระบบฯ

  • จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะกรรมการฯ เจ้าหน้าที่ พพ. และผู้เกี่ยวข้อง อย่างน้อยจำนวน 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาการขอรับการสนับสนุนลงทุนติดตั้งระบบฯ แล้วนำเสนอ พพ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ

งานศึกษาความพร้อมของผู้ใช้งานและผู้ผลิต

  • ศึกษาศักยภาพกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานในกิจการโรงแรมหรืออาคารธุรกิจหรือโรงงานเพื่อหาเป้าหมายที่มีความเหมาะสมที่จะใช้งานระบบจริงเพื่อเป็นข้อมูลทางด้านเทคนิคเช่นปริมาณการใช้น้ำร้อนพลังงานที่ใช้วิธีการการผลิตน้ำร้อนฯลฯ

  • ศึกษาศักยภาพและความพร้อมของกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งาน ความเหมาะสมทางด้านเทคนิคความพร้อมทางการเงิน ความสนใจของผู้ประกอบการ ทัศนคติของการใช้พลังงานทดแทน

  • ศึกษาศักยภาพและความพร้อมของผู้ประกอบการด้านการผลิต (Supplier, Manufacturer) ผู้จำหน่าย ผู้ติดตั้งระบบ ผู้บำรุงรักษา แหล่งให้เงินทุนและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

  • สรุปผลการศึกษา และจัดทำรายชื่อกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานในกิจการโรงแรมหรืออาคารธุรกิจหรือโรงงาน ที่มีศักยภาพมีความเหมาะสมและพร้อมในการใช้งานระบบฯ

  • คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้งานในกิจการโรงแรมหรืออาคารธุรกิจหรือโรงงาน จำนวนไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เสนอให้ พพ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้นำกลุ่มเป้าหมายปี 51 มาพิจารณาร่วมด้วย

  • นำเสนอแผนการเข้าปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้ พพ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ

งานส่งเสริมการใช้งานระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ผสมผสานกับความร้อนเหลือทิ้ง

  • จัดทำการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) การออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) แก่กิจการโรงแรมหรืออาคารธุรกิจโรงงานที่ได้รับการคัดเลือกไว้แล้ว จำนวนไม่น้อยกว่า 25 แห่ง

    • ศึกษา สำรวจ และออกแบบเบื้องต้น ระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ผสมผสานกับความร้อนเหลือทิ้ง

    • ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเทคนิค (ปริมาณน้ำร้อน วิธีการผลิตเดิม พื้นที่ แหล่งความร้อนเสริม ฯลฯ)

    • ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ (ค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำร้อนด้วยวิธีเดิม ค่าใช้จ่าย การลงทุนระบบใหม่ ต้นทุนระบบผลิตน้ำร้อนระบบใหม่ ผลกำไรที่จะได้รับ ระยะเวลาคืนทุน ฯลฯ)

    • จัดทำคำแนะนำในการก่อสร้างระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ผสมผสานกับความร้อนเหลือทิ้งให้แก่เจ้าของอาคาร

  • สรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) การออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) แก่กิจการโรงแรมหรืออาคารธุรกิจหรือโรงงาน ที่ได้ดำเนินการไว้ จำนวนไม่น้อยกว่า 25 แห่ง

  • จัดประชุมสัมมนา ผู้ประกอบการกิจการโรงแรมหรืออาคารธุรกิจหรือโรงงานที่ได้ดำเนินการการศึกษาเบื้องต้น ศักยภาพความเหมาะสมไว้จำนวนไม่น้อยกว่า 25 แห่ง และจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน และผู้ประกอบการด้านการผลิต (Supplier, Manufacturer) ผู้จำหน่าย ผู้ติดตั้งระบบ ผู้บำรุงรักษา แหล่งให้เงินทุนและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อนำเสนอแนวทางให้เกิดการลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนผสมผสานกับความร้อนเหลือทิ้งให้ พพ. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

งานศึกษาการประเมินผลและแนวทางส่งเสริมใช้งานระบบต่อไป

  • กำหนดแนวทางและวิธีการติดตามประเมินผลการลงทุนติดตั้งระบบผลิตน้ำร้อนใช้งาน
  • สำรวจประเมินผลระบบผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจาก พพ. ในปี 2551 ทั้งหมด

  • จัดทำแนวทางเพื่อให้เกิดการส่งเสริมทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การตลาด และการใช้งานน้ำร้อน แสงอาทิตย์ในระยะต่อไป


 

| top | close |