จากรูปที่ 1 ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้นำที่จะทำให้องค์การเกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ได้วางแผนไว้ โดยผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลบนวิสัยทัศน์ของการเปลี่ยนแปลง สามารถมองเห็นและคาดการณ์อนาคตและรู้ว่าควรจะต้องทำอย่างไรในการตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ที่กำหนดขึ้น ด้วยการคิดในการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ว่าทำอย่างไร ในการเข้าสู่เป้าหมาย จะวางกลยุทธ์หรือวิธีการอย่างไรเพื่อให้พันธกิจและวัตถุประสงค์ที่วางไว้สำเร็จอย่างมีขั้นตอนมีแผนงานรองรับความเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้นจะต้องสอดคล้องกับแผนธุรกิจหลักขององค์กรตั้งแต่วิสัยทัศน์ ภารกิจวัตถุประสงค์ กลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ ดังนั้นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง คือ ผู้นำที่จะต้องใส่ใจไปที่การเปลี่ยนแปลงขององค์กรต่อพนักงาน ทั้งด้านความรู้สึก พฤติกรรม ทัศนคติ ความเชื่อ คำมั่นสัญญา ฯลฯ

พฤติกรรมมนุษย์ในการต่อต้านความเปลี่ยนแปลง (Resisitance to Change) จนถึงการยอมรับสามารถแบ่งการพัฒนาได้เป็น 4 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 พนักงานในองค์กรกับความรู้สึกแรกรับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง จะเกิดการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แรงต้านความเปลี่ยนแปลง จะเป็นความรู้สึกเบื้องต้นที่รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 พนักงานในองค์กรจะแบ่งความรู้สึกออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ตอบสนองต่อสิ่งใหม่, กลุ่มอนุรักษ์ เป็นกลุ่มที่รักความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมและมีการต่อต้านอย่างลึกซึ้ง และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ต่อต้าน ที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่ทั้งสามกลุ่มผลที่ออกมา คือ จะแสดงความโกรธ มีการต่อรอง แสดงออกในทางลบ และผลสุดท้านคือผลการทำงานตกต่ำลง

ขั้นตอนที่ 3 พนักงานในองค์กรเริ่มทดลองปฏิบัติตาม เพราะได้รับการทำความเข้าใจและความมุ่งมั่นของผู้นำการเปลี่ยนแปลงและทีมงาน

ขั้นตอนที่ 4 พนักงานในองค์กรยอมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดการยอมรับผลทางบวกย่อมเกิดขึ้นตามมา การพัฒนาการเปลี่ยนแปลงก็จะบรรลุผลและส่งผลต่อการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่าบทบาทของผู้นำการเปลี่ยนแปลง นั้นคือการปรับเปลี่ยนความเข้าใจ ทัศนคติ ความเชื่อ พฤติกรรมของพนักงานอย่างช้าๆ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กร การตั้งรางวัลสำหรับความสำเร็จและบทลงโทษในเวลาเดียวกัน รวมทั้งการเข้าจัดการความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นั่นคือการสร้างแรงจูงใจในการทำงานบนความเปลี่ยนแปลง

 

 

1 | 2 | 3