ปัจจุบันผลิตภาพได้มีบทบาทสนับสนุนการสร้างศักยภาพในการแข่งขันองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจัยทางเทคโนโลยีและความต้องการผู้บริโภคซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้องค์กรธุรกิจต้องดำเนินการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสภาวะความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยเหตุนี้แนวคิดบริหารผลิตภาพแบบบูรณาการ (Total Productivity Managment) หรือ TPM จึงได้มีบทบาทสนับสนุนความสำเร็จให้แก่องค์กรชั้นนำหลายแห่ง โดยมุ่งให้สมาชิกทุกคนภายในองค์กรได้มีส่วนร่วมสร้างผลิตผลให้แก่องค์กร และเกิดความเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจ สำหรับองค์กรประกอบการบริหารผลิตภาพแบบบูรณาการ ประกอบด้วย

 

  1. ความชัดเจน (Clearity) โดยเฉพาะการจัดทำวัตถุประสงค์ทุกประเด็น (Overall Objective) เพื่อแสดงถึงทิศทางการดำเนินงานของธุรกิจต้องมีความชัดเจนและวัตถุประสงค์แต่ละกิจกรรมสามารถวัดผลเชิงปริมาณซึ่งเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์โดยรวมของธุรกิจ
  2. ความแน่นอน (Certainty) ผลลัพธ์แต่ละกิจกรรมสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์แต่ละกิจกรรมได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และสามารถแสดงความคืบหน้าจากการดำเนินกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน
  3. ความเชื่อมั่น (Confidence) โดยสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างกันเพื่อให้เกิดรูปแบบการทำงานเป็นทีมด้วยการให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมโดยมุ่งผลลัพธ์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ

บทบาท TPM สำหรับปรับปรุงผลิตภาพองค์กร
โดยทั่วไปกระบวนการสร้างผลิตภาพประกอบด้วยการวัดผลิตภาพ (Productivity Measurement) และการปรับปรุงผลิตภาพ (Productivity Improvement) สำหรับ TPM ได้มีบทบาทหลักในส่วนการปรับปรุงผลิตภาพโดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • การวัดผลิตภาพ แสดงด้วยผลิตผลหรือผลลัพธ์จากกระบวนการเทียบต่อหน่วยปัจจัยนำเข้า (Input) ดังนั้นการวัดผลิตภาพจึงมีบทบาทไม่เพียงแค่เทียบเคียงผลลัพธ์จริงกับเป้าหมาย แต่ยังถูกใช้สำหรับเทียบเคียงผลิตภาพแต่ละรอบเวลา ซึ่งแนวทางวัดผลิตภาพขึ้นกับประเภทธุรกิจ เช่น ธุรกิจภาคการผลิตแสดงผลิตภาพด้วยปริมาณหน่วยชิ้นงานจากกระบวนการแปรรูปเทียบกับทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้าที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการ สำหรับธุรกิจห้างสรรพสินค้าก็อาจวัดผลิตภาพด้วยมูลค่ายอดขายเทียบกับต้นทุนการดำเนินงานและการขาย

สำหรับธุรกิจบริการอย่าง มหาวิทยาลัย ธนาคาร ประกันภัย หรือแม้แต่ฝ่ายงานสนับสนุนอาจแสดงผลิตผลด้วยรูปแบบการให้บริการ แต่โดยทั่วไปการให้บริการไม่สามารถแสดงผลลัพธ์เชิงปริมาณ ดังนั้นผลิตภาพการให้บริการจึงมักประเมินในมิติภาพ เช่น ข้อร้องเรียนจากลูกค้า หรือความพึงพอใจของผู้ได้รับบริการที่สามารถวัดผลด้วยปัจจัยและความพึงพอใจของลูกค้า ดังเช่น

  • โรงพยาบาล : เวลาและความรวดเร็วสำหรับให้บริการ ความแม่นยำของผลการทดสอบ ความสะอาด ความรวดเร็วในการับคนไข้ ความถูกต้องของเอกสาร และความสุภาพ
  • ร้านขายของชำ : เวลารอคอยในเคาน์เตอร์ชำระเงิน คุณภาพสินค้า ความถี่การขาดสต็อกสินค้า ความสะอาด คำร้องเรียนจากลูกค้า และการลงบันทึกที่ผิดพลาด
  • สายการบิน : ความล่าช้าของเที่ยวบิน สัมภาระที่สูญหาย เวลารอคอยสำหรับ Check-In ความสะอาดและการเอาใจใส่จากพนักงานผู้ให้บริการ
  • ร้านอาหารจานด่วน : เวลารอคอยเพื่อรับบริการจำนวนคำร้องเรียนจากลูกค้า ความสะอาด คุณภาพอาหาร และความสุภาพจากพนักงานผู้ให้บริการ
  • การสั่งซื้อทางแคตาลอก : ความถูกต้องของคำสั่งซื้อ ความสุภาพของพนักงาน การหีบห่อ เวลาการส่งมอบ และเวลารอคอยสั่งซื้อทางโทรศัพท์
  • ธุรกิจประกันภัย : ความพร้อมให้บริการของตัวแทน เวลาการตอบสนองต่อลูกค้า

โดยทั่วไปการประเมินผลิตภาพจะดำเนินการวัดผลิตผลในช่วงต้นแล้วจึงระบุปัจจัยนำเข้าหรือปัจจัยที่จำเป็นต่อสำหรับการแปรรูปหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น จำนวนชั่วโมงการทำงาน เครื่องจักรและสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น หลังจากนั้นจึงทำการวัดผลิตภาพ ซึ่งแนวทางวัดผลิตภาพจำแนกได้ ดังนี้

1 | 2 | 3