การปรับปรุงผลิตภาพ สำหรับกิจกรรมปรับปรุงผลิตภาพตามแนวทาง TPM จะมุ่งสร้างผลิตผลเพื่อให้เกิดผลกำไรสูงสุดหรือการให้บริการเป็นเลิศกับลูกค้าโดยผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับสองประเด็นหลัก นั่นคือ

  1. วัตถุประสงค์โดยรวม (Overall Objective) ประเด็นที่มุ่งสร้างประสิทธิผลจากการดำเนินงานด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงปริมาณซึ่งเกี่ยวกับประเด็นหัวข้อ (Theme) สำหรับการปรับปรุง เช่น การลดต้นทุน การเพิ่มปริมาณผลิตผล การสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า และการเพิ่มคุณภาพชีวิตการทำงาน เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงผลิตภาพจะเกิดประสิทธิผลเมื่อวัตถุประสงค์โดยรวมได้ถูกแจกแจงเป็นวัตถุประสงค์ย่อยและประเด็นแต่ละกิจกรรมสามารถบรรลุผลสำเร็จ





  2. แนวทางคัดเลือกกลยุทธ์ (Strategy Selection Guidelines) โดยประเมินทางเลือกที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์โดยรวมขององค์กรและสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานสูงสุด เช่น การลดความสูญเสียจากปัญหาคุณภาพ การลดรอบเวลาการปฏิบัติงาน เป็นต้น ซึ่ง ผลิตภาพสามารถประเมินได้จากมุมมอง ดังนี้

    • ด้านปัจจัยนำเข้า (Output Side) โดยมุ่งบรรลุวัตถุประสงค์โดยรวม
    • ด้านกระบวนการ (Proess Side) คือ การใช้ปัจจัยนำเข้าเทียบกับผลิตผลซึ่งเป็นเกณฑ์สำหรับคัดเลือกกลยุทธ์

สำหรับการดำเนินการปรับปรุงผลิตภาพตามแนวทาง TPM อย่างมีประสิทธิผล ประกอบด้วยแนวทาง ดังนี้

  1. แนวทางจากบนลงล่าง (Top-Down Approach) โดยกำหนดวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับหัวข้อปรับปรุงผลิตภาพ และกระจายวัตถุประสงค์ (Objective Deployment) ไปในแต่ละส่วนตามลำดับความสำคัญ (Priority Area)
    และเลือกกลยุทธ์หรือแนวทางเพิ่มผลิตภาพโดยรวม




  2. แนวทางจากล่างไปบน (Bottom-Up Approach) เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมสนับสนุนเพื่อสร้างผลิตภาพด้วยการปรับปรุงสถานที่ทำงาน โดยแนวทางดำเนินการ ประกอบด้วย
    • การสำรวจพื้นที่ทำงานอย่างใกล้ชิด
    • การระบุจำแนกขอบเขตที่เกิดความสูญเปล่า
    • กำหนดแนวทางแก้ไขและดำเนินการตามลำดับความสำคัญ
    • ติดตามความคืบหน้าและผลลัพธ์จากการปรับปรุง

สรุป เป้าหมายสำหรับการบริหารผลิตภาพแบบบูรณาการ คือ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและการสร้างสรรค์จากสมาชิกทีมงาน ดังนั้นพนักงานทุกคนจึงควรตระหนักถึงความรับผิดชอบ และเกิดความมีส่วนร่วมโครงการปรับปรุงผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์กรสู่ความเป็นเลิศที่สามารถแข่งขันในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง

 

1 | 2 | 3