ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ความเสียหายจากอาคารและสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอาคารไฟไหม้ หรืออาคารพังทลาย ซึ่งแต่ละครั้งได้สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน และความโศกเศร้ามาสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มากมาย ทำให้นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิออกมาเรียกร้องว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี Building Code สักที นอกจากนี้ผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่ายยังมีความเห็นอีกว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยควรได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายการเปิดการค้าเสรี และการเข้าสู่ระบบ APEC Engineering System ซึ่งจำเป็นต้องมี Building Code ประจำชาติ เพื่อยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างอาคารของประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล ซึ่ง Building Code ดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานของรัฐอย่างกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ต่างพยายามผลักดันให้เกิด Building Code ขึ้น ทั้งๆ ที่หลายคนยังคงสงสัยว่า ความจริงแล้ว Building Code นั้นมีความหมายอย่างไรกันแน่ และมีความสำคัญเพียงใด

บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับ Building Code กันพอเป็นสังเขป โดยจะเริ่มจากความหมายของ Building Code ต่อด้วยประวัติของ Building Code ซึ่งมีความเป็นมายาวนานย้อนกลับไปประมาณ 4,000 ปีก่อน จากนั้นจะกล่าวถึงเนื้อหาโดยทั่วไปของ Building Code และจะนำเสนอ Building Code ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีระบบการควบคุมอาคารที่สลับซับซ้อนและน่าสนใจที่สุดประเทศหนึ่งเนื้อหาใน Building Code ของประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับกฎหมายและมาตรฐานของประเทศไทยหลายฉบับ และสุดท้ายเป็นการกล่าวถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง Building Code ในอนาคตรวมทั้ง Building Code ในประเทศไทย

1. อะไรคือ Building Code

หากพิจารณาความหมายของ "Builidng Code" โดยแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนแรก คือ "Building" หรือ "อาคาร" ซึ่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดความหมายของ "อาคาร" ไว้อย่างชัดเจนว่า หมายถึง ตึก บ้านเรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สำนักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุลคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ รวมถึงโครงสร้างอื่น เช่น เขื่อน สะพาน หรือป้าย เป็นต้น สำหรับส่วนหลังหรือ "Code" ที่อาจแปลได้ว่า "ประมวล" หรือหนังสือที่รวบรวมสิ่งซึ่งเป็นประเภทเดียวกัน" เช่น ประมวลกฎหมาอาญา ประมวลกฎหมายปกครอง เป็นต้น ซึ่ง ศ.ดร.อัขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับความหมายของ Code ไว้อย่างน่าสนใจว่า Code หรือประมวลกฎหมายในภาษาไทยนั้น ในความเข้าใจ และเรียกขานกันของนักกฎหมายในต่างประเทศที่เอ่ยถึงนั้น มิได้มีความหมายและเข้าใจแต่เพียงว่า จะต้องเป็นเรื่องของการรวบรวมบทบัญญัติกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์และมีเนื้อหาสาระสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายอีกประการหนึ่งว่า หมายถึงการรวบรวมบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องเดียวและเกี่ยวพันกันไว้ด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการศึกษา และใช้งานในกฎหมายนั้นอีกด้วย

ดังนั้นโดยหลักการทั่วไปแล้วข้อบังคับใน Building Code เป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับควบคุมในการออกแบบการก่อสร้าง และการใช้งานอาคารให้มีความปลอดภัยถูกสุขอนามัย และก่อให้เกิดสวัสดิภาพแก่ผู้ใช้อาคาร และสาธารณชน

2. ความเป็นมาของ Building Code

Building Code มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 1,700 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการบัญญัติข้อบังคับที่รู้จักกันในนามของข้อบังคับของฮัมมูราบี (Code of Hammurabi) อันประกอบด้วยข้อบัญญัติและบทลงโทษ Building Code ในช่วงแรกๆ มักจัดทำภายหลังที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับอาคารเกิดขึ้น เช่น อาคารพังทลาย อาคารเกิดอัคคีภัย

จนถึงปัจจุบันมีการพัฒนาการของข้อบังคับที่จากเดิมเคยจัดทำขึ้นภายหลังเหตุการณ์การวิบัติของอาคารมาเป็นข้อบังคับที่จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการวิบัติสูญเสีย รวมทั้งในปัจจุบันเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ลักษณะของข้อบังคับใน Building Code ต้องปรับเปลี่ยนตามไปให้ทันยุคสมัยด้วย


1 | 2 | 3 | 4 | 5