การทาสีผนังก่อนติดตั้งโครงฝ้าเพดาน โดย คุณรัชนก เสริมสิทธิพร
Sheet No. : TR-AR-02 
   June 08 

 

งานการติดตั้งฝ้าเพดานไม่ว่าจะเป็นฝ้าเพดานแบบยิปซั่มฉาบเรียบ หรือแบบ T-BAR สำหรับงานสถาปัตยกรรมจะมีขั้นตอนการติดตั้งดังนี้

  1. หลังจากผู้รับจ้างงานระบบประกอบอาคารได้ติดตั้งงานในส่วน Primary Works และได้ผ่านการ Inspection โดยผู้ควบคุมงานและเก็บงาน Defect เป็นที่เรียบร้อย ผู้รับจ้างงานติดตั้งฝ้าเพดานจะเริ่มติดตั้งโครงคร่าวฝ้าเพดานทั้งที่ผนังรอบห้อง (มักจะมีรูปร่างเป็นรูป ตัว “L ( แอล)” และบริเวณทั้งห้อง เพื่อเป็นที่รองรับแผ่นฝ้าเพดาน
  2. หลังจากนั้นผู้รับจ้างงานระบบประกอบอาคารจะติดตั้งงาน Secondary Work ส่วนที่เป็นอุปกรณ์ติดตั้งบนแผ่นฝ้า โดยต่อท่อ Branch จากงานส่วน Primary Works เช่น หัว Sprinkler, หัวกระจายลม, ดวงโคม, Detector และอื่นๆ ฯลฯ ให้เรียบร้อย
  3. ขั้นตอนสุดท้ายคือการติดตั้งแผ่นฝ้าเพดานเข้ากับโครงคร่าวที่ติดตั้งไปแล้ว

จากรูปที่ 1 เป็นรูปที่แสดงการติดตั้งแผ่นฝ้าเพดานที่แล้วเสร็จพร้อมกับได้ทาสีผนังเป็นที่เรียบร้อย

รูปที่ 1 แสดงการทาสีผนังพร้อมติดตั้งแผ่นฝ้าเพดานเรียบร้อย

ซึ่งสภาพดังรูปจะดูเรียบร้อย เนื่องจากได้มีการทาสีผนังก่อนติดตั้งโครงคร่าวรูปตัว “L” เราควรสั่งการให้ผู้รับจ้างงานสถาปัตยกรรมทาสีผนังรอบบริเวณดังกล่าวก่อน จึงทำการตีแนวระดับฝ้าเพดาน และยึดโครงคร่าวฝ้าเพดาน การทาสีให้ทาเลยแนวระดับขึ้นไปประมาณ 100-150 มิลลิเมตร ดังรูปที่ 2 และรูปที่ 3

รูปที่ 2 แสดงทาสีผนังรอบห้องก่อนตีแนวระดับฝ้าเพดาน

รูปที่ 3 แสดงการติดตั้งโครงคร่าวเพดานหลังจากทาสีผนังรอบห้อง

ลองพิจารณาดูในรูปที่ 4 และ 5 ที่มีการติดตั้งโครงคร่าวฝ้าเพดานก่อนทาสีผนังรอบห้อง เมื่อช่างทาสีทำการทาสีผนังห้อง จะมีโอกาสทำให้สีเปื้อนโครงคร่าวฝ้าเพดานได้ และเมื่อทำความสะอาดสีที่เปื้อน หรือซ่อมสีโครงคร่าวฝ้าเพดานก็จะทำให้สีผนังเปรอะเปื้อนอีก ทำให้มีการซ่อมแซมโดยไม่รู้จบ

 
รูปที่ 4
 
รูปที่5
การติดตั้งโครงคร่าวฝ้าเพดานก่อนทาสีรอบผนังห้อง

รูปที่ 6 อาจต้องทำการซ่อมสีทั้งที่ผนังและโครงคร่าวฝ้าเพดานภายหลัง

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ก่อนดำเนินการสั่งให้ผู้รับจ้างทาสีผนังรอบห้อง ต้องให้ผู้รับจ้างส่งตัวอย่างสี (ทั้งสีรองพื้น / สีทับหน้า) พร้อมตัวอย่างมาให้สถาปนิกพิจารณาเพื่ออนุมัติก่อน จะได้ไม่เกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้นในภายหลัง

Top  | มีข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นสามารถเข้าไป post ที่ web board

 

          เรื่องง่ายๆ ของหญ้าอาจเป็นเรื่องปวดใจสำหรับ “ มือใหม่” โดย คุณเกรียงศักดิ์ เส็งวัฒน์
Sheet No. : TR-AR-01 
   November 07 

 

ท่านทั้งหลายที่คลุกคลีกับงานก่อสร้าง โดยเฉพาะงานก่อสร้างใหม่ คงปฎิเสธไม่ได้ว่าจะต้องมี สนามหญ้า หรือ GREEN AREA อยู่ในพื้นที่ของโครงการ และเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้าม คุณสมบัติเฉพาะตัว ของหญ้าที่นำมาใช้ในโครงการ

ภาพนี้คือ หญ้ามาเลเซีย มีคุณสมบัติเหมาะกับงานที่โดนแดดไม่มาก
(ร่ม - ครึ้ม) ใบใหญ่ขนาดด้ามปากกา อ่อน - นุ่ม ดูแลรักษาง่ายราคาช่วงที่มีในตลาด 17 - 22 บาท/ ตรม., ราคาช่วงขาดตลาด เช่น น้ำท่วม 35 - 95 บาท/ ตรม.
   
ภาพนี้คือ หญ้านวลน้อย มีคุณสมบัติเหมาะกับงานในที่โล่ง โดนแดดจัด มีลักษณะคล้ายหญ้าญี่ปุ่นแต่ใบใหญ่และนุ่มกว่า ดูแลรักษาง่าย ราคาช่วงที่มีในตลาด 12 - 15 บาท/ ตรม., ราคาช่วงขาดตลาด เช่น น้ำท่วม 60 - 75 บาท/ ตรม.

มีอยู่โครงการหนึ่งผู้ออกแบบ (มือใหม่) ได้ระบุให้ใช้หญ้ามาเลเซียทั้งโครงการซึ่งเป็นที่โล่งแจ้ง โดนแดดจัด และช่วงก่อนเริ่มงานผู้หวังดีได้เสนอแนะแล้วว่า หญ้ามาเลเซียไม่เหมาะกับพื้นที่โล่งโดนแดดจัด ผู้ออกแบบท่านได้โต้แย้งต่างๆนานาๆ และยืนยันว่าให้ใช้หญ้ามาเลเซีย (อาจเพราะกลัวเสียหน้า) ผลก็เป็นตามภาพด้านล่างนี้ไงครับ เฮ้อออออ …. ลองคิดดูซิครับว่าพื้นที่ 3,500 - 4,000 ตารางเมตร ราคาค่ารื้อถอน + ค่าของ + ค่าแรง จะเท่าไหร่? นี่ถ้าเป็นช่วงหญ้าขาดตลาดผมว่าคงโดนเจ้าของงานฟ้องแน่ๆ เพราะหากผมเป็นเจ้าของงาน ผมคงไม่ยอมจ่ายหรอกท่านว่าจริงไหมครับ

 
หญ้าที่ปลูกก่อนและกำลังลาโลกนี้ไปแล้ว
 
หญ้าที่ปลูกทีหลังกำลังเริ่มเหี่ยวและเฉาตาย

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ

  1.  หากใช้ หญ้ามาเลเซีย ในที่ร่ม – ครึ้ม มีต้นไม้ปกคลุม ต้องอย่าลืมว่า หากเป็นช่วงเริ่มปลูกหรือช่วงพลัดใบ บริเวณนั้นคงไม่ร่ม – ครึ้ม หรอกครับ แล้วคุณว่าหญ้าจะตายไหม?

  2. ความร้อนจากแสงแดดที่สะท้อนจากผนังอาคารในช่วงตอนกลางวันจะเผาหญ้าตายไหม? (หากเป็นผนังโลหะ) แดดมันร้อนนะครับ ไม่เชื่อลองเอากระจกเงาแผ่นใหญ่ๆส่องแสงแดดสะท้อนใส่ตัวดูซิครับ

ในจุดๆเดียวกัน เวลาเดียวกัน แต่ ! ต่างฤดูกาล จุดนั้นอาจมีแสงแดดหรือไม่มีก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งดวงอาทิตย์ของฤดูกาลนั้นๆ ผมเคยเจอโครงการหนึ่ง ไม้ดอกชนิดที่โดนแดดได้เฉพาะแดดอ่อนๆ พอเข้าฤดูหนาว จุดที่ปลูกไม้ดอกชนิดนี้โดนแดดช่วง 11 – 12 โมง ผลปรากฎว่าใบเหี่ยวแห้งตายหมดจนต้องรื้อถอนออก แล้วใครจะรับผิดชอบล่ะครับ?

 

ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้หญ้านวลน้อยกับสนามหญ้าที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุมเลยผ่านไป 3 เดือน หญ้าดูเขียวชะอุ่ม สดชื่น

Top  |มีข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นสามารถเข้าไป post ที่ web board