การเตรียมการเพื่อเริ่มเข้าปฏิบัติงานในโครงการ โดย คุณวิชาญ ศิวะชิตพงศ
Sheet No. : TR-MN-05 
   December 09 
 

 

เมื่อได้รับมอบหมายจากเจ้าของโครงการให้ทำหน้าที่บริหารและควบคุมงานก่อสร้าง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ จะเริ่มเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในโครงการ ผู้เกี่ยวข้องของทีมงาน ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการ, ที่ปรึกษาโครงการ และผู้จัดการโครงการ / หัวหน้าโครงการ จะต้องจัดประชุมเพื่อตระเตรียมงานและกำหนดแนวทาง และนโยบายในการปฏิบัติงาน, การประสานงาน, ช่องทางการติดต่อสื่อสาร ทั้งการติดต่อภายในบริษัทฯ และการติดต่อกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในโครงการนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจ และความรวดเร็วในการปฏิบัติหน้าที่ในโครงการ ทำให้ไม่เกิดความสับสน

รายละเอียดต่างๆ ที่จะต้องตระเตรียม, ชี้แจงและสรุปแนวทางเพื่อที่จะเริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่ในโครงการ จะมีหัวข้อดังต่อไปนี้ :-

หัวข้อที่ 1 : ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการจะต้องชี้แจงรายละเอียดของโครงการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนี้ :-

  • ชนิดของโครงการ
  • เจ้าของโครงการ
  • ระยะเวลาก่อสร้าง
  • ขอบเขตหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
  • จำนวนบุคลากรของคณะบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง (เฉพาะของบริษัทฯ)
  • ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น ผู้ออกแบบ (แต่ละด้าน), ผู้รับเหมาก่อสร้าง (แต่ละด้าน), ผู้ควบคุมงานด้านอื่นๆ, ตัวแทนเจ้าของโครงการ

หัวข้อที่ 2 : ที่ปรึกษาโครงการร่วมกับผู้จัดการโครงการ / หัวหน้าโครงการ จะต้องตระเตรียมการภายในบริษัทฯ ดังนี้ :-

  • ประสานงานกับฝ่ายออกแบบ / วิศวกรโครงการ / เจ้าของโครงการ เพื่อเตรียมเอกสารที่จะต้องนำไปใช้ในหน่วยงาน
  • ปรึกษาร่วมกับผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการ
  • ศึกษาแผนงานบุคลากรของทีมงานที่ได้เสนอต่อเจ้าของโครงการ เพื่อที่จะกำหนดและแบ่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของแต่ละคน โดยพิจารณาร่วมกัน
  • ผู้จัดการโครงการ / หัวหน้าโครงการ จัดเตรียมในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็น จะต้องมีไว้ใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าสนาม เช่น หมวกนิรภัย, รองเท้า, ตลับเมตร,
    ไฟฉาย ฯลฯ รวมทั้งการประสานงานในการจัดเตรียมสำนักงานสนาม ( Site Office) กับตัวแทนเจ้าของโครงการ หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง
  • จัดเตรียมร่วมกันในเรื่องของบ้านพัก และยานพาหนะในกรณีที่หน่วยงานอยู่ต่างจังหวัด
  • จัดเตรียมและส่งหนังสือส่งตัวเจ้าหน้าที่แต่ละคนที่เข้าปฏิบัติงานในโครงการ (สำเนาส่งฝ่ายบัญชีเพื่อรับทราบ และหากมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางให้ทำหนังสือแจ้งฝ่ายบัญชี)
  • จัดเตรียมการประชุม Kick Off กับผู้รับเหมาก่อสร้าง

หัวข้อที่ 3 : การติดต่อสื่อสารต่างๆ ทางผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งผู้จัดการโครงการ / หัวหน้าโครงการ จะกำหนด Flow Chart ของการติดต่อสื่อสาร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท อันได้แก่ :-

  1. การติดต่อภายในบริษัทฯ
  2. การติดต่อกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในโครงการ
 
                 แนวทางการทำงานในเชิงรุก
Sheet No. : TR-MN-04 
   February 08 
 


โดยทั่วไปเมื่อเราได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินงานใดๆ ก็ตาม ก่อนเริ่มลงมือดำเนินการ สิ่งที่ต้องพิจารณาในลำดับแรกๆ คือ สร้างความเข้าใจในงานที่ได้รับมอบหมาย วิธีปฏิบัติ เป้าหมาย รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ ส่วนคุณภาพของงานขึ้นอยู่กับว่าเรามีวิธีการควบคุมให้กระบวนการดำเนินงานไปตามเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้มากน้อยเพียงใด หากว่าเราสามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ระหว่างกระบวนการก็อาจจะลดลงไปบ้างไม่มากก็น้อย เป็นผลให้งานที่ได้มีคุณภาพตามที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งเป้าหมายไว้

การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารโครงการ และควบคุมงานก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าผลงานที่ออกมาจะเป็นด้านนามธรรมมากกว่ารูปธรรม แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกับผลงานที่เป็นรูปธรรมซึ่งดำเนินการโดยผู้รับเหมานั่นคือ โครงการที่แล้วเสร็จมีคุณภาพการใช้งานที่ดี ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนด รวมทั้งงบประมาณการก่อสร้างไม่บานปลาย ดังนั้นหากเราสามารถควบคุมให้กระบวนการดำเนินงานการก่อสร้างเป็นไปตามเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โอกาสที่จะได้ผลงานตามเป้าหมายก็จะมีมากขึ้น แต่เราเองจะต้องมีวิธีปฏิบัติในการควบคุมการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในการนี้คือการทำงานในเชิงรุกนั่นเอง

นิยามของการทำงานในเชิงรุก คือ ทุกคนที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานต้องมีความเตรียมพร้อมในการทำงานแต่ละกระบวนการ ถ้าเราลองนึกถึงโครงการก่อนๆ ที่พวกเรามีประสบการณ์ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหากบุคลากรของผู้รับเหมามีประสบการณ์ในการทำงานที่มากพอ เราเองก็จะทำงานร่วมกันได้ง่าย ในทางตรงกันข้ามถ้าบุคลากรดังกล่าวเป็นประเภทมือใหม่หัดขับ เราเองก็รู้สึกลำบากใจไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่อาจบรรเทาความลำบากใจของคณะทำงานคือการเตรียมความพร้อมในแต่ละกระบวนการก่อสร้างของพวกเรา เพื่อให้คำปรึกษาที่มีประโยชน์ต่อโครงการให้ผู้รับเหมานำไปปฏิบัติ

ในความเป็นจริงคาบเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการจะสามารถแบ่งเป็น 3 คาบหลักๆ คือ

  1. ก่อนการก่อสร้าง
  2. ระหว่างการก่อสร้าง
  3. หลังการก่อสร้าง

การทำงานในเชิงรุก คือ เราควรต้องศึกษารายละเอียดของงานที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงล่วงหน้า และพิจารณาดูว่าผู้รับเหมาจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านใดบ้าง หากผู้รับเหมาสามารถเตรียมความพร้อมได้ดีในระดับหนึ่ง งานที่ดำเนินการก็จะแล้วเสร็จอย่างมีคุณภาพภายในระยะเวลากำหนด และงบประมาณไม่บานปลาย แต่ก็ไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดี ก็จะเกิดงานชั่วคราวขึ้นมากมาย ซึ่งผู้รับเหมาต้องกลับไปทำงานซ้ำ (Re-Work) ซึ่งผลงานที่ได้จะออกมาในทางตรงกันข้าม คือ ไม่มีคุณภาพ เสร็จไม่ทันตามกำหนด และเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน ฯลฯ เป็นต้น

พวกเราบางคนอาจคิดว่า การไม่เตรียมพร้อมของผู้รับเหมาไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ควบคุมงานโดยตรง ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เจ้าของโครงการที่ว่าจ้างให้เราเข้าไปทำหน้าที่บริหารโครงการ และควบคุมงานก่อสร้าง ก็เพราะเห็นว่าเราเป็นบริษัทฯ ที่มีชื่อเสียงและมีโครงการอ้างอิงแล้วเสร็จมากมาย คงจะใช้ประสบการณ์ในการผ่านงานมามากมายเพื่อให้คำแนะนำ (Instruct) ผู้รับเหมาให้ดำเนินการในการกระบวนการก่อสร้างให้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นจึงอยากจะขอชี้แนะนำแนวทางของการทำงานในเชิงรุกในแต่ละคาบเวลาที่ใช้ในการก่อสร้าง เพื่อให้พวกเราลองนำไปปฏิบัติในโครงการที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์ต่อตนเอง, บริษัทฯ และโครงการที่ได้รับมอบหมายบ้างไม่มากก็น้อยดังนี้

1. ระยะก่อนการก่อสร้าง (Pre-Construction Period)

  • ผู้จัดการโครงการ/หัวหน้าโครงการ ต้องศึกษาขอบเขตของงานทั้งโครงการให้ครบถ้วน และแบ่งหน้าที่ปฏิบัติให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสม
  • ผู้ที่รับผิดชอบในส่วนใดก็ตามต้องศึกษาแบบ, รายละเอียดประกอบแบบ รวมทั้ง Typical Detail ให้เข้าใจ หากมีรายการใดไม่ชัดเจนต้องปรึกษาผู้บังคับบัญชาเพื่อหาข้อสรุป
  • ควรเชิญผู้ออกแบบมาชี้แจงแนวคิดในการออกแบบ (Concept Design) เพื่อจะได้เข้าใจในแนวคิดการออกแบบ รวมถึงจุดที่ควรสนใจเป็นพิเศษ เช่น งานที่ต่อเติม และเกี่ยวข้องกับอาคารเดิม หรืองานที่มีการขยายในอนาคต (Future Expansion) ฯลฯ เป็นต้น
  • ต้องศึกษากำหนดการก่อสร้าง (Schedule) ของงานตนเอง และที่เกี่ยวข้องกับงานอื่นๆ เพราะอาจมีรายการที่ไม่สอดคล้องกัน จะได้ทำการแก้ไข/ปรับปรุงให้ถูกต้อง
  • ต้องปรึกษาประชุมร่วมกับผู้รับเหมา เพื่อให้เตรียมพร้อมในส่วนต่อไปนี้ก่อนลงมือก่อสร้าง ได้แก่
    • การจัดส่งเอกสารขออนุมัติใช้วัสดุล่วงหน้า โดยเฉพาะวัสดุจำพวกท่อน้ำ, ท่อลม, ท่อร้อยสายไฟ, Junction Box, ลักษณะ Hanger และ Support, ประเภทสีที่ใช้ทั้งสีกันสนิม และสีทับหน้า หากรายการดังกล่าวได้รับการอนุมัติก่อน ผู้รับเหมาจะได้เตรียมงานการประกอบ (Fabrication) จาก Work shop ได้ทันการติดตั้งจริง
    • การจัดการให้มีการจัดทำ Combined Drawing เพื่อให้แต่ละระบบไปจัดทำ Shop Drawing ล่วงหน้า
    • ควรมีการเปรียบเทียบ Specifation ของวัสดุบางอย่างในแต่ละระบบ และควรสรุปให้มีความคล้ายคลึงกัน เช่น วัสดุ/สีที่ใช้ทำ Hanger และ Support ของแต่ละระบบ, แต่ละพื้นที่
    • ควรจัดให้มีการทำตัวอย่างงานติดตั้งที่มีลักษณะเป็น Mass (Mock-Up) เช่น การติดตั้ง Hanger และ Support, การหุ้มฉนวนท่อน้ำและท่อลม, การฝัง Box ในกำแพง ฯลฯ เป็นต้น เพื่อให้งานดังกล่าวมีมาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะใช้ผู้รับเหมาช่วง (Sub-Contractor) มาทำการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยน, เพิ่มผู้รับเหมาช่วงตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง จะได้ให้แต่ละรายไปดูตัวอย่าง Mock-Up ที่ได้รับการอนุมัติเพื่อจะได้งานออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน

2. ระยะการก่อสร้าง (Construction Period)

ในระยะนี้ผู้รับเหมาได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างงานที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งผู้ควบคุมงานต้องทำงานตรวจสอบ, ทดสอบงานเพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์ความคืบหน้าตามกำหนดการ ดังนั้นความเตรียมพร้อมในการทำงานของผู้ควบคุมงาน ได้แก่
  • จะต้องมีความแม่นยำในรายการที่ผู้รับเหมาได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ เช่น Shop Drawing ประเภทของวัสดุอุปกรณ์, รายละเอียดประกอบแบบ รวมทั้ง Typical Detail ฯลฯ เป็นต้น
  • ในแต่ละวันควรกำหนด Schedule ของตนเองในการออกตรวจงานหน้าสนามอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยต้องรู้ว่าจะไปตรวจงานตรงบริเวณใด (ซึ่งอาจดูจาก Daily Request ของผู้รับเหมา) และการไปตรวจแต่ละพื้นที่ควรจะนำเอา Approved Shop Drawing ติดตัวไปด้วยพร้อมสมุด Memo เล่มเล็กๆ เพื่อบันทึกสิ่งที่เกิดปัญหาขึ้น แต่ทั้งนี้หากพบสิ่งที่เกิดปัญหาขึ้นไม่ควรแจ้งให้ช่างของผู้รับเหมาทำการแก้ไขโดยลำพัง ควรกลับมาแจ้งผ่านบุคลากรระดับหัวหน้างานของผู้รับเหมาตามขั้นตอน นอกจากว่าสิ่งที่เกิดปัญหาอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงได้
  • การออกไปตรวจงานหน้าสนามไม่จำเป็นว่าผู้รับเหมาต้องส่งใบแจ้งตรวจสอบงานก่อนจึงจะไปตรวจเพราะ บางกรณีหากไปตรวจงานหลังจากผู้รับเหมาดำเนินการแล้วเสร็จทั้งพื้นที่แล้วพบรายการงานที่ไม่ถูกต้อง จะต้องทำให้แก้ไขทั้งบริเวณก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เสียเวลา/เสียค่าใช้จ่ายมาก ขึ้น ซึ่งอาจเลยเถิดไปจนเกิดความขัดแย้งขึ้นได้

3. ระยะหลังการก่อสร้าง (Post-Construction Period)

ในระยะนี้รายการงานที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ คือการตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องครั้งสุดท้าย รวมทั้งการทดสอบการทำงานของเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ผู้ควบคุมงานต้องเตรียมความพร้อมในการศึกษารายละเอียดของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ต้องทำการทดสอบ โดยควรศึกษาจากคู่มือการติดตั้ง, การทดสอบและการบำรุงรักษาที่โรงงานผู้ผลิตส่งมาให้ รวมทั้งต้องให้ผู้รับเหมาจัดส่งแบบฟอร์มการทดสอบ (Test Report) มาให้เราตรวจสอบเพื่ออนุมัติแต่เนิ่นๆ ซึ่งนอกจากต้องทดสอบเครื่องจักรแต่ละตัวแล้ว ขั้นสุดท้ายจะต้องทำการทดสอบและปรับแต่งการทำงานของระบบ (System Operation) ของแต่ละระบบให้สองคล้องกับแนวคิดการออกแบบ (Concept Design) ของผู้ออกแบบที่ได้มาชี้แจงตั้งแต่ต้นโครงการ หากเป็นไปได้ควรเชิญผู้ออกแบบมาตรวจความเรียบร้อยครั้งสุดท้ายเพื่อความถูกต้องครบถ้วนของงานก่อนทำการทดสอบ

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการก่อสร้างโครงการทุกโครงการจะมีจุดเริ่มจนถึงจุดสุดท้ายไม่แตกต่างกัน จะแตกต่างกัน คือขนาดและความสลับซับซ้อนของแต่ละโครงการ แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ควบคุมงานมีความเตรียมพร้อมในการทำงานในแต่ละกระบวนการอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถดำเนินงานในเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะวัดได้จากผลสำเร็จของโครงการในด้านคุณภาพ ระยะเวลาก่อสร้าง และงบประมาณที่ใช้ รวมทั้งความพึงพอใจของเจ้าของโครงการที่มีต่อการบริการของการบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้างของพวกเรานั่นเอง

 
จรรยาบรรณ ซึ่งใช้เป็นข้อบังคับของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
Sheet No. : TR-MN-03 
   October 07 
 


บทนำ

วิชาชีพวิศวกรรมเป็นวิชาชีพที่ต้องการบุคคลผู้กอร์ปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม และมีความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมเป็นอย่างดี วิศวกรจะต้องปฏิบัติวิชาชีพด้วยความเที่ยงธรรมและมีสัจจะ

ความมุ่งหมายของจรรยาบรรณนี้ ก็เพื่อเป็นหลักยึดในการปฏิบัติวิชาชีพ เพื่อความยุติธรรมและความเหมาะสม

จรรยาบรรณสำหรับการประพฤติตนในการประกอบวิชาชีพของวิศวกรนั้น ว.ส.ท.ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นรากฐานแห่งการเสริมสร้างศรัทธา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการให้บริการทางวิศวกรรม การกระทำใดๆ ของสมาชิกของ ว.ส.ท. ที่ผิดไปจากบัญญัติ เรื่องจรรยาบรรณข้อใดข้อหนึ่งที่ ว.ส.ท. ได้กำหนดไว้นี้ให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นได้กระทำผิดทางวิชาชีพ และจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยโดย ว.ส.ท.

1. พันธกรณีต่อวิชาชีพ

  • วิศวกรพึงให้ความร่วมมือในการส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรม โดยการแลกเปลี่ยนข่าวสารความรู้และประสบการณ์กับวิศวกรอื่น ตลอดจนนิสิตนักศึกษา และโครงการช่วยงานสมาคมวิศวกรรมต่างๆ รวมทั้งสถาบันการศึกษา และการพิมพ์เอกสารเผยแพร่ความรู้วิชาชีพวิศวกรรม
  • วิศวกรต้องไม่โฆษณาผลงานของตนเองในลักษณะที่เป็นการโอ้อวด และพึงหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่วิชาชีพวิศวกรรม
  • วิศวกรย่อมไม่ปฏิบัติวิชาชีพเกินขอบเจตความรู้ ความสามารถของตนเอง
  • วิศวกรต้องไม่รับงานแต่เพียงในนาม และต้องปฏิบัติตามหลักวิชาโดยเคร่งครัด
  • วิศวกรต้องไม่ใช้วิชาชีพในทางที่ผิดกฎหมาย

2. พันธกรณีต่อสาธารณะ

  • วิศวกรพึงให้การสนับสนุในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านวิศวกรรม และพึงพยายามขจัดการแพร่ข่าวสารที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง หรือขยายความเกินความจริง หรือที่ไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับวิศวกรรม
  • วิศวกรพึงให้ความระมัดระวังในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิตและสุขภาพของคนงาน และสาธารณชนซึ่งอาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน
  • ในกรณีที่เป็นพยานในศาล หรือให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการไต่สวน วิศวกรต้องแถลงความคิดเห็นด้วยความถูกต้อง และเฉพาะที่ได้รู้ชัดแจ้งเท่านั้น
  • วิศวกรจะแถลงถึงความคิดเห็นทางวิศวกรรมต่อสาธารณะ เฉพาะเมื่อตนได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่แถลงนั้นอย่างถ่องแท้แล้ว

3. พันธกรณีต่อผู้ว่าจ้าง

  • วิศวกรต้องซื่อตรงต่อผู้ว่าจ้างของตน
  • วิศวกรถึงแสดงฐานะของตนให้ผู้ว่าจ้างทราบก่อนที่จะรับดำเนินการ ในกรณีที่ได้รับแต่งตั้งให้วินิจฉัยการใช้ประดิษฐกรรม อุปกรณ์ หรือสิ่งอื่นใดซึ่งตนอาจจะมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
  • ในกรณีที่วิศวกรเป็นผู้รับผิดชอบในความพอเพียงทางเทคนิคของงานวิศวกรรม หากผู้มีอำนาจเหนือกว่ามีความเห็นเป็นอย่างอื่น วิศวกรต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนั้น
  • ในกรณีที่เห็นว่าการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้างของตน วิศวกรจะจ้างหรือแนะนำให้ผู้ว่าจ้าง จ้างผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวและตนต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
  • วิศวกรต้องไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจการค้า หรือกระบวนการทางเทคนิคของผู้ว่าจ้าง โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง
  • วิศวกรต้องไม่รับค่าตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งอื่นใด จากผู้ว่าจ้างหลายรายในการให้บริการงานชิ้นเดียวกัน นอกจากจะได้รับอนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว
  • ในเรื่องที่เกี่ยวกับงานซึ่งตนรับผิดชอบ วิศวกรต้องไม่รับสิ่งตอบแทนใดๆ เช่น ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าตอบแทนจากผู้ขายวัสดุหรืออุปกรณ์เป็นต้น จากผู้อื่นเป็นอันขาด นอกจากผู้ว่าจ้างของตนเท่านั้น
  • วิศวกรต้องไม่มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้รับเหมาหรือร่วมทุน ในการประกวดราคางาน ซึ่งตนเป็นวิศวกรผู้รับผิดชอบนอกจากจะได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้างเสียก่อน
  • วิศวกรต้องแจ้งให้ผู้ว่าจ้างของตนทราบทันทีถึงกิจการใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสีย และอาจจะเป็นคู่แข่งหรือมีผลกระทบกระเทือนต่อธุรกิจของผู้ว่าจ้าง และวิศวกรต้องไม่ยอมให้ผลประโยชน์ในธุรกิจใดๆ มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจเกี่ยวกับงานวิศวกรรม ซึ่งตนเป็นวิศวกร

4. พันธกรณีต่อวิชาชีพ

  • วิศวกรพึงถือหลักเสมอว่า งานใดที่วิศวกรผู้หนึ่งได้ทำไว้ จะต้องให้เกียรติถือว่าเป็นผลงานของวิศวกรผู้นั้น
  • วิศวกรต้องไม่กระทำใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงความก้าวหน้าหรือการปฏิบัติวิชาชีพของวิศวกรอื่นในกรณีที่พบว่า วิศวกรผู้ใดกระทำความผิดจรรยาบรรณพึงรายงานพฤติกรรมดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อดำเนินการต่อไป
  • วิศวกรพึงละเว้นซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์งานของวิศวกรอื่นต่อสาธารณะ เว้นแต่จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่
  • วิศวกรต้องไม่แทรกแซงงานของวิศวกรอื่น เมื่อทราบว่าวิศวกรผู้นั้นได้มีข้อตกลงทำงานนั้นอยู่แล้ว นอกจากผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกการจ้างกับวิศวกรผู้นั้นแล้วเป็นลายลักษณ์อักษร
  • วิศวกรต้องไม่แข่งขันกับวิศวกรอื่นด้วยการตัดราคาค่าจ้างของตนให้ต่ำกว่าของผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อได้ทราบอัตราค่าจ้างของผู้นั้นแล้ว
  • วิศวกรต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยไม่ชอบธรรมในการแข่งขันกับวิศวกรอื่น หรือใช้อิทธิพลหรือวิธีจ่ายค่าตอยแทนต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งงาน
  • วิศวกรต้องไม่ทำงานร่วมกับวิศวกรซึ่งปฏิบัติตนผิดจรรยาบรรณ

 

 
                       สิ่งที่ต้องปฏิบัติเมื่อถูกมอบหมายให้ทำงานภาคสนาม
Sheet No. : TR-MN-02 
   September 07
 
 

 

  1. เบิกเครื่องมือประจำตัว

    • หมวกนิรภัย
    • รองเท้านิรภัย
    • ตลับเมตร

  2. ศึกษาเอกสารต่าง ๆ ของงานทุกชนิดที่อยู่ในโครงการ เช่น

    • สัญญาก่อสร้าง
    • แบบก่อสร้าง
    • รายละเอียดประกอบแบบ (Specification)
    • Typical Details
    • Bill of Quantities (B.O.Q.) หรือ บัญชีแสดงรายการปริมาณวัสดุและราคาต่อหน่วย
    • อื่น ๆ (ถ้ามี)

  3. โดยทั่วไปงานก่อสร้างจะประกอบด้วย

    • งานโครงสร้าง (Structural Works)
    • งานโยธา (Civil Works)
    • งานสถาปัตยกรรม (Architectural Works)
    • งานภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Works)
    • งานเครื่องกลและไฟฟ้า (Mechanical & Electrical Works) หรืองานวิศวกรรมระบบประกอบอาคาร (Utility Services)

      • งานระบบไฟฟ้า (Electrical System)
      • งานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ (Air Conditioning & Ventilation System)
      • งานระบบสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม (Sanitary & Environmental System)
      • งานระบบป้องกันอัคคีภัย (Fire Protection System)

    • งานระบบเครื่องกล (Mechanical System)
      • งานระบบความร้อน (Heating System)
      • งานระบบอากาศอัด (Compressed Air System)
      • งานระบบสูญญากาศ (Vacuum System)
      • งานระบบก๊าซทางการแพทย์ (Medical Gas System)
      • งานระบบก๊าซหุงต้ม (LPG System)
      • อื่น ๆ

  4. โดยทั่วไปขณะที่ปฏิบัติงานภาคสนามควรปฏิบัติตน ดังนี้

    • ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับทั้งเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา รวมทั้งเพื่อนร่วมงาน

    • ศึกษางานที่ตนเองรับผิดชอบ รวมทั้งงานส่วนอื่นๆ ที่มิได้รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากอาจเกิดกรณีต้องทำหน้าที่รับผิดชอบงานของเพื่อนร่วมงานแทนชั่วคราว จะได้กระทำแทนได้ทันที นอกจากนี้ การที่ตนเองมีความรู้ในงานส่วนอื่นๆ อาจสามารถใช้เป็นประโยชน์ในการประสานงาน การจัดทำ Shop Drawing ที่ต้องทำการ Combine แบบในบริเวณที่มีงานระบบหลายส่วนติดตั้งในพื้นที่เดียวกัน

    • ศึกษาความเป็นไปได้ของกำหนดการของงานติดตั้ง (Work Schedule) ซึ่งเสนอโดย ผู้รับเหมาเพราะจะต้องใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการตรวจสอบความคืบหน้าของผู้รับเหมาตลอดเวลา

    • ตรวจสอบเอกสาร Daily Work Request เพื่อจะได้รับรู้ว่า ในแต่ละวัน ผู้รับเหมาทำงาน อยู่บริเวณใด และตรงกับในกำหนดการต่าง ๆ เช่น Master Work Schedule หรือ 3- Week Work Schedule หรือไม่?

    • ตรวจสอบเอกสาร Daily Work Report เพื่อเปรียบเทียบว่าผู้รับเหมาทำงานในบริเวณที่ระบุอยู่ในเอกสาร Daily Work Request หรือไม่? หากพบว่าไม่ตรงกัน ต้องขอให้ผู้รับเหมาชี้แจงเหตุผลประกอบ

    • ตรวจสอบความก้าวหน้าของงานที่ทำได้จริงเทียบกับแผนงาน เช่น ดูจาก S-Curve เป็นต้น หากเกิดความล่าช้า จะต้องทำการเร่งรัดผู้รับเหมาตามวิธีการต่าง ๆ ที่ได้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาหน้างาน

    • ต้องหมั่นออกตรวจงานในสนามโดยสม่ำเสมอ อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน โดยต้องรู้ว่า ผู้รับเหมาทำงานอยู่ที่จุดใด (ดูจาก Daily Work Request) เพื่อจะได้ตรวจสอบความถูกต้องของงานที่ติดตั้งโดยผู้รับเหมา ไม่ควรรอจนผู้รับเหมาส่งเอกสารตรวจสอบงานแล้วจึงไปตรวจสอบ เพราะอาจจะสายเกินไป เนื่องจากงานที่ติดตั้งแล้วไม่ถูกต้อง มีปริมาณมากจนอาจแก้ไขไม่ทันการ

    • ในการออกไปตรวจงานสนาม ควรสังเกตความเป็นไปของงานส่วนอื่นๆ ที่ตนเองมิได้รับผิดชอบด้วย หากพบข้อบกพร่องจากการติดตั้งของผู้รับเหมา ควรรีบกลับมาแจ้งผู้รับผิดชอบโดยตรง เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที อย่าคิดว่ามิใช่ความรับผิดชอบหรือธุระของตนเอง เพราะอย่างไรก็ตาม หากเกิดจุดบกพร่องในงานระบบใดๆ ขึ้น คณะทำงานทั้งหมดหรือบริษัทฯ ต้องรับผิดชอบทั้งหมดโดยตรง ตัวผู้ควบคุมงานควรต้องทำงานเป็นทีม เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ

    • เมื่อพบงานส่วนที่ช่างของผู้รับเหมากำลังทำการติดตั้งอยู่มีความไม่ถูกต้อง ผู้ควบคุมงานไม่ควรแจ้งให้ช่างให้แก้ไขโดยตรง ควรแจ้งให้หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาของช่างดังกล่าวเป็นผู้สั่งการ นอกจากว่างานดังกล่าวจะเกิดความเสียหายหรืออันตรายกับผู้ปฏิบัติ หากปล่อยให้ดำเนินการต่อไป

    • ขณะลงตรวจงานในสนามควรพก Shop Drawing ฉบับย่อไปด้วย รวมทั้งควรมีสมุดเล่มเล็กๆ ติดตัวไปเผื่อจะได้ Note รายการงานบกพร่องหรือรายการข้อสงสัยต่างๆ

    • ห้ามปฏิบัติงานเสมือนหนึ่งเป็นเจ้านายของผู้รับเหมาโดยเด็ดขาด เรามีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับผู้รับเหมา คือ ทำงานให้แล้วเสร็จอย่างมีคุณภาพ ตามเวลาที่กำหนด และงบประมาณไม่บานปลาย

    • ก่อนที่ผู้รับเหมาลงมือติดตั้งงานต่างๆ เช่น การประกอบท่อน้ำ, Support, ท่อลม หรืออื่นๆ ควรประชุมร่วมกับผู้รับเหมา เพื่อสรุปถึงวิธีการติดตั้ง โดยยึดถือรายละเอียดจาก Typical Detail ซึ่งอาจดัดแปลงได้บ้าง แต่ต้องไม่แตกต่างจนมากเกินไป หากไม่แน่ใจควรปรึกษาเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชา

    • งานที่คล้ายคลึงกันของระบบที่ต่างกัน เช่น Support ท่อน้ำ ฯลฯ ควรกำหนดให้ทุกระบบติดตั้งในลักษณะเดียวกัน ถึงแม้ว่า Typical Detail จะแตกต่างกันก็ตาม หากพบงานที่บกพร่องและต้องทำการแก้ไข ผู้ควบคุมงานต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหน้างาน เพื่อออกหนังสือ Non Conformance Report (N.C.Report) ให้ผู้รับเหมา เพื่อหาสาเหตุที่เกิดความบกพร่อง และแนวทางแก้ไขปรับปรุง หลังจากผู้รับเหมาทำการปรับปรุงจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ทำการบันทึก N.C. Report ดังกล่าว เพื่อจัดส่งให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการเผยแพร่ให้หน่วยงานอื่นๆ ทราบ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ

    • ระหว่างปฏิบัติงานใดๆ หากพบว่างานที่ตนเองหรือผู้รับเหมาอาจเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะมากหรือน้อย ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงโดยเร็วและถูกต้อง ผู้ปฏิบัติงานต้องทำการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาพร้อมกำหนดแนวทางแก้ไขปรับปรุง ซึ่งอาจมีหลายวิธี แล้วจึงแจ้งให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อจะได้สรุปแนวททาง แก้ไขปรับปรุงที่ถูกต้องและแจ้งผู้รับเหมาหรือผู้เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

    • การปฏิบัติงานในส่วนอื่นๆ ให้เป็นไปตามเอกสาร Job Description หรือตามที่ผู้บังคับบัญชา มอบหมาย ฯลฯ
 
                       ข้อควรปฏิบัติสำหรับพนักงานที่เข้าใหม่ : ฝ่ายบริหารโครงการ
Sheet No. : TR-MN-01 
   September 07 
 

 

  1. ศึกษาเอกสารต่างๆ ที่แผนกบุคคลจัดให้ในวันปฐมนิเทศ ได้แก่

    • กฎ ระเบียบ สวัสดิการต่างๆ ของบริษัทฯ
    • ผังองค์กรทั้งบริษัทฯ
    • ผังองค์กรของฝ่ายบริหารโครงการ

  2. กรอกรายละเอียดประกันชีวิตกลุ่ม และแบบสอบถามการคำนวณภาษีเงินได้

  3. ถ่ายรูปเพื่อทำบัตรพนักงานที่แผนกคอมพิวเตอร์

  4. ทำการสแกนนิ้วมือที่แผนกบุคคล เพื่อลงเวลาเข้า - ออก ภายในบริษัทฯ

  5. เปิดบัญชีธนาคารตามที่ฝ่ายบัญชีและการเงินแนะนำ

  6. ทำการตรวจร่างกายตามโรงพยาบาลที่แผนกบุคคลจัดเตรียมให้

  7. ศึกษารายละเอียดของอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของตำแหน่งที่ตนเองปฏิบัติ รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ ในฝ่ายฯ จากเอกสาร Job Description

  8. ศึกษารายละเอียดของคุณสมบัติด้านคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความชำนาญอื่นๆ ของตำแหน่งที่ตนเองปฏิบัติ รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ ในฝ่ายฯ จากเอกสาร Job Specification

  9. ศึกษารายละเอียดของ “ขั้นตอนการบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง”

  10. ศึกษารายละเอียดของเอกสารต่างๆ ในระบบบริหารคุณภาพ (Quality Management System : QMS) ตามมาตรฐาน ISO 9001 : 2000 อันประกอบด้วย

    • Quality Manual (คู่มือคุณภาพ)
    • 10.2 Procedures (ระเบียบปฏิบัติงาน)
    • 10.3 Work Instructions (วิธีการปฏิบัติ)
    • Forms (แบบฟอร์ม)
    • Supported Documents (เอกสารสนับสนุนการปฏิบัติงาน)

    หากยังมีข้อสงสัยประการใด ให้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากแผนกบุคคล และ/หรือ ผู้จัดการคุณภาพ ฝ่ายบริหารโครงการที่เป็นผู้แนะนำรายละเอียดต่างๆ