การจัดทำ Combined Drawing ของงานวิศวกรรมระบบเหนือฝ้าเพดานซึ่งจะใช้เป็นแนวทางให้ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบประกอบอาคาร ทำการติดตั้งงานที่ตนเองรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการประสานงานและประสบการณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งผู้ออกแบบ ผู้บริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง ผู้รับเหมางานฝ้าเพดานรวมทั้งผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบประกอบอาคาร โดยทั่วไปการประสานงานในการจัดทำ Combined Drawing ควรจะมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนออกแบบ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและผู้ออกแบบที่มีประสบการณ์ แต่เนื่องจากในปัจจุบันระยะเวลาในการออกแบบของแต่ละโครงการจะมีค่อนข้างจำกัด ดังนั้นผู้ที่รับภาระในการจัดทำ Combined Drawing มักจะตกอยู่กับคณะทำงานที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้าง อันได้แก่ ผู้ควบคุมงานและผู้รับเหมา หากโครงการใดการจัดทำ Combined Drawing เป็นไปด้วยดี การเกิดข้อผิดพลาดหรือความขัดแย้ง (Obstruction) ในการติดตั้งงานต่างๆ จะลดน้อยลง ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ในการ Operate และบำรุงรักษาของเจ้าของโครงการนั่นเอง แต่ตรงกันข้ามหากโครงการใดมีการจัดทำ Combined Drawing ที่ไม่ดีพอก็อาจมีโอกาสเกิดความขัดแย้งในขณะที่ทำการติดตั้งงานเหนือฝ้าเพดาน ซึ่งเป็นผลให้บางโครงการต้องสูญเสียเวลา และค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นในการแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว นอกจากนี้ยังอาจเกิดความยุ่งยากในการใช้งานภายหลังของเจ้าของโครงการด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างความยุ่งยากหรือปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการขาดการวางแผนหรือการประสานงานที่ดีในการจัดทำ Combined Drawing เหนือฝ้าเพดาน เช่น
- กล่องต่อสาย ( Junction Box) ของงานระบบไฟฟ้าถูกงานท่อลมมาปิดทับจนไม่สามารถจะทำการลากสายไฟฟ้า (Wiring) ได้
- ตำแหน่งหัว Sprinkler แบบ Pendant อยู่ใต้ท่อลมขนาดใหญ่จนไม่สามารถจะทำการ Offset ท่อหรือเชื่อมท่อน้ำดับเพลิงหรือใส่ Support ได้
 |
ท่อ Sprinkler ไม่ควรอยู่ใต้ท่อลมเพราะติดตั้ง Support ยาก |
- ดวงโคมไม่ว่าแบบ Down Light หรือ Fluorescent ไม่สามารถติดตั้งได้ เพราะไม่ได้เผื่อเนื้อที่เหนือฝ้าเพดาน
- มีการถอด Support ของงานระบบอื่นๆ ออกเพื่อติดตั้งงานของตนเอง และไม่ใส่กลับคืน, เนื่องจากใส่ไม่ได้
- หัวจ่ายแบบ Linear Slot Diffuser ติดตั้งไม่ได้เพราะไม่มีเนื้อที่สำหรับแขวน Plenum
- แนว Main ของ Wireway, Cable Tray กับท่อลมอยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้มีช่องว่างน้อยเกินไปในการถอดฝา Wireway หรือ Cable Tray ในภายหลัง
 |
Wireway อยู่ชิดติดกับแนวท่อลมมากเกินไป |
- ตำแหน่ง Control Valve ต่างๆ ถูกบดบังจนไม่สามารถ Service หรือใช้งานได้
- Flexible Duct มีความยาวมากเกินความจำเป็น
- ท่อลม และ/หรือ พัดลมระบายอากาศเหนือฝ้าเพดานในห้องน้ำ (ที่มีงานท่อระบบสุขาภิบาลมากมาย) ไม่สามารถติดตั้งได้เพราะมีเนื้อที่ไม่เพียงพอ
- ไม่สามารถติดตั้งโครงคร่าวฝ้าเพดานตามระดับที่กำหนดในแบบได้ เพราะไม่ได้มีการเผื่อระดับของโครงคร่าวฝ้าเพดานในการจัดทำ Combined Drawing เหนือฝ้าเพดาน
- อื่นๆ ฯลฯ
การจัดทำ Combined Drawing ก่อนการติดตั้งจะเป็นวิธีที่ช่วยลดปัญหาความยุ่งยากดังกล่าวข้างต้นไม่มากก็น้อย โดยที่วิศวกร / ช่างเทคนิคหน้าสนามจำเป็นต้องศึกษาแบบและเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมตั้งแต่เริ่มงานก่อสร้าง เพื่อจัดทำ Combined Drawing ของงานวิศวกรรมระบบที่อยู่เหนือฝ้าเพดานทุกระบบเพื่อลดข้อผิดพลาดหรือความขัดแย้ง (Obstruction) / ความยุ่งยากในการติดตั้งให้เหลือน้อยที่สุด
การจัดทำ Combined Drawing ตามเอกสารนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ชนิดของฝ้าเพดานของงานสถาปัตยกรรมทั่วๆ ไป เช่น
- ฝ้าเพดานชนิด T-Bar
- ฝ้าเพดานชนิดฉาบเรียบ (วัสดุยิปซั่มบอร์ด)
- ฝ้าเพดานชนิดตะแกรง (Grid Ceiling)
- ฝ้าเพดานชนิดแถบอลูมิเนียม (Aluminium Strip)
ฝ้าเพดานชนิดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่จะใช้ในงานตกแต่งภายใน ซึ่งอาจมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปจากที่ระบุข้างต้น
- ผู้ที่เกี่ยวข้องในการประสานงานการจัดทำ Combined Drawing ได้แก่
- ผู้ควบคุมงานวิศวกรรมระบบประกอบอาคารทุกระบบ
- ผู้ควบคุมงานสถาปัตยกรรม / งานตกแต่งภายใน
- ผู้ประสานงาน (Co-ordinator) ของผู้รับเหมา
- ผู้รับเหมางานสถาปัตยกรรม (งานฝ้าเพดาน) / งานตกแต่งภายใน
- ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบประกอบอาคารทุกระบบ
- ผู้ออกแบบงานวิศวกรรมระบบประกอบอาคารทุกระบบ และงานสถาปัตยกรรม (ถ้าจำเป็น)
- ตัวแทนเจ้าของโครงการ (ถ้าจำเป็น)
- ตัวอย่างประเภทของงานวิศวกรรมระบบประกอบอาคารที่ติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน ได้แก่
- งาน Raceway ต่างๆ เช่น ท่อร้อยสาย (Conduit), Wireway, Cable Tray, Junction Box ฯลฯ
- ท่อน้ำรวมทั้งวาล์วในระบบปรับอากาศ, ป้องกันเพลิงไหม้, สุขาภิบาล (ทั้งน้ำดี น้ำเสีย) และอื่นๆ
- เครื่องจักรต่างๆ เช่น เครื่องเป่าลมเย็นทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก (Air Handling Unit : AHU & Fan Coil Unit : FCU), พัดลมระบายอากาศ
- ท่อลมในระบบปรับอากาศ
- อื่นๆ ฯลฯ
 |
ตัวอย่างงานวิศกรรมระบบประกอบอาคารที่ติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน |
การจัดทำ Combined Drawing ควรเริ่มดำเนินการโดยผู้บริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง ตั้งแต่เริ่มเข้าปฏิบัติงานในโครงการ และเจ้าของโครงการได้ว่าจ้างผู้รับเหมาครบถ้วนตามรายการผู้เกี่ยวข้องที่ระบุข้างต้นแล้ว โดยมีขั้นตอนดังนี้
-
ผู้จัดการโครงการ / หัวหน้าโครงการเป็นผู้ดำเนินการหรือมอบหมายให้วิศวกร / ช่างเทคนิคคนใดคนหนึ่ง (ซึ่งควรมีความอาวุโสพอสมควร) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสาน (Co-ordinator) ในการจัดทำ Combined Drawing กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
-
ผู้จัดการโครงการ / หัวหน้าโครงการ ทำการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการควบคุมงานทั้งงานสถาปัตยกรรมในส่วนงานฝ้าเพดานและงานวิศวกรรมระบบทุกระบบให้กับวิศวกร / สถาปนิก / ช่างเทคนิก เพื่อให้ทำการศึกษาแบบของโครงการ โดยเฉพาะส่วนงานวิศวกรรมระบบที่อยู่เหนือฝ้าเพดาน ขณะทำการศึกษาควรใช้ดินสอสีระบายแนวท่อต่างๆ ให้ชัดเจนจะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดในภายหลัง
-
ให้วิศวกร / ช่างเทคนิค ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประสานงานจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อเริ่มการจัดทำ Combined Drawing
-
ในการประชุมครั้งแรกควรประกอบวาระต่างๆ ดังนี้
- กำหนดการจัดประชุมเพื่อจัดทำ Combined Drawing ของทั้งโครงการ
- ชื่อ สกุล ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดพร้อมสถานที่ติดต่อและเบอร์โทรศัพท์
- (4.3) แบ่งจำนวนพื้นที่หรือบริเวณที่ต้องจัดทำ Combined Drawing ตามลำดับก่อนหลัง
- คาบเวลาที่เหมาะสมในการประชุมเพื่อจัดทำ Combined Drawing ในแต่ละพื้นที่หรือบริเวณ เพื่อใช้อ้างอิงในการติดตามความก้าวหน้า โดยต้องสอดคล้องกับ Master Schedule ของผู้รับเหมาทุกราย
- ในการประชุมครั้งที่ (2) ให้ยึดถือตามลำดับพื้นที่ก่อนหลังที่ได้ตกลงกันไว้ใน (4.3) ข้างต้น โดยในแต่ละพื้นที่หรือบริเวณให้เริ่มขั้นตอน ดังนี้
- ให้ผู้รับเหมางานฝ้าเพดานเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด ดังนี้
- ประเภทฝ้าเพดานที่ติดตั้งในแต่ละบริเวณ
- ลักษณะและทิศทางการติดตั้งแนวฝ้าเพดาน โดยเฉพาะฝ้าเพดานชนิด T-bar ที่มี Dimension เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ส่วนใหญ่จะมีขนาด 1,200 x 600 มม. หรือ 4 x 2 ฟุต) และฝ้าเพดานชนิด Aluminium Strip
- ลักษณะและทิศทางการติดตั้งโคร่งคร่าวฝ้าเพดานทั้งโครงคร่าวหลัก (บางครั้งเรียกว่า “ กระดูกฝ้า” ) และโครงคร่าวย่อย โดยปกติแล้วผู้รับเหมางานฝ้าเพดานมักไม่ยอมให้ตัดโครงคร่าวหลัก เพราะจะต้องมาเสริมเหล็กแขวนในแนวที่ถูกตัด และ/หรือ บางครั้งหากทำไม่เรียบร้อยฝ้าเพดานบริเวณดังกล่าวอาจมีลักษณะแอ่น หรือที่เรียกว่า “ ตกท้องช้าง”
- ระดับพื้นห้องที่ตกแต่งแล้ว (After Finished Floor : AFF) ถึงระดับฝ้าเพดานเป็นรายห้อง เนื่องจากบางโครงการห้อง 2 ห้องที่อยู่ติดกันอาจมีระดับ AFF ถึงระดับฝ้าเพดานต่างกัน เช่น ห้องประชุม ห้องรับรองห้องโถง หรือห้องประชุม ฯลฯ เป็นต้น
- (5.2) ผู้ประสานงาน (Co-Ordinator) ในการจัดทำ Combined Drawing และผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบจะต้องตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวกับพื้นที่ในฝ้าเพดานจากแบบงานโครงสร้าง เพื่อชี้แจงข้อมูล ดังนี้
- ระยะจากระดับฝ้าเพดานถึงท้องพื้น Slab ในแต่ละบริเวณ
- ระยะจากระดับฝ้าเพดานถึงแนวคาน (ทั้งคานหลักและคานย่อย) ในแต่ละบริเวณรวมถึงแนวคานด้วย
- ลักษณะความลึกและขนาด Drop Panel รอบเสา
- (5.3) กำหนดให้ผู้รับเหมางานฝ้าเพดานส่งแบบ Shop Drawing (ที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ควบคุมงานสถาปัตยกรรมแล้ว) ให้ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบประกอบอาคารไปดำเนินการลงตำแหน่ง Ceiling Fixtures Outlet และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ตนเองรับผิดชอบให้ครบถ้วน (ลงในแบบ Shop Drawing ฝ้าเพดานแผ่นเดียวกัน) เพื่อจัดส่งให้ผู้ออกแบบ หรือผู้ควบคุมงาน วิศวกรรรมระบบประกอบอาคารพิจารณาเพื่ออนุมัติ
- แบบ Shop Drawing ดังกล่าวใน (5.3) จะต้องประกอบด้วยรายละเอียดของงานติดตั้งแผ่นฝ้าเพดาน พร้อมแนวกั้นห้องต่างๆ ให้ครบถ้วน มิฉะนั้นแล้วการลงตำแหน่ง Ceiling Fixtures Outlet อาจผิดเพี้ยนไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งาน
- Ceiling Fixtures Outlet หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ระบุใน (5.3) ได้แก่
- งานระบบไฟฟ้า
- ดวงโคมต่างๆ
- ลำโพง
- Detector ต่างๆ
- Exit Sign / Emergency Light
- ฯลฯ
- งานระบบปรับอากาศ
- หัวกระจายลม (ทั้ง Supply / Return)
- Access Panel (เพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรที่ติดตั้งบนฝ้าเพดาน)
- ฯลฯ
- งานระบบป้องกันเพลิงไหม้
-
(5.6) หลังจากแบบฝ้าเพดานที่แสดงตำแหน่ง Ceiling Fixtures Outlet และอุปกรณ์ต่างๆ ได้รับการพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้ผู้รับเหมางานฝ้าเพดานแจกจ่ายแบบดังกล่าวให้ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบทุกระบบนำไป Plot แบบร่างงานวิศวกรรมระบบต่างๆ ที่ต้องติดตั้งบนฝ้าเพดาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวท่อลม, ท่อน้ำ, Raceway หลักๆ ที่มีขนาดใหญ่ เพื่อนำมาประชุมจัดแนวต่างๆ ร่วมกันต่อไป
-
ในการประชุมครั้งที่ (3) จะต้องหาข้อสรุปในการแบ่งระดับ และ/หรือ แนวทางการติดตั้งงานวิศวกรรมระบบต่างๆ ที่ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบได้นำร่างที่ตนเอง Plot ในแบบตาม (5.6) ข้างต้นมาชี้แจงในที่ประชุม การแบ่งระดับผู้เกี่ยวข้องต้องศึกษาดูว่างานวิศวกรรมระบบที่ตนเองรับผิดชอบต้องการระยะในฝ้าเพดานเท่าไร โดยอาศัยข้อมูลระยะต่างๆ ที่ได้จากการประชุม (5.2) ข้างต้น เป็นเกณฑ์ในการแบ่งสัดส่วนของงานวิศวกรรมระบบแต่ระบบ ผู้ประสานงานควรสั่งการให้ผู้รับเหมาจัดทำแบบขยาย (Scale 1:20) ทั้งแบบ Plan และรูปตัดในบริเวณวิกฤต (โดยเฉพาะบริเวณใต้คาน และบริเวณที่มีแนวท่อประธาน (Main) ของแต่ละระบบพาดผ่าน) หากเกิดปัญหาเนื้อที่ไม่เพียงพอจะได้หาทางหลบหลีก หรือเปลี่ยนแปลง Dimension (ท่อที่เปลี่ยนแปลง Dimension ได้ส่วนใหญ่จะเป็นท่อลม) โดยทั่วไปเราจะพยายามจัดให้ท่อประธาน (Main) ของแต่ละระบบอยู่ในระดับเดียวกัน โดยให้งานท่อลมติดตั้งระหว่างท่อ / รางของงานระบบไฟฟ้ากับท่อน้ำระบบต่างๆ แต่ถ้าไม่สามารถจัดให้อยู่ในระดับเดียวกันได้เรามักจะจัดให้แนวท่อ Raceway อยู่ด้านบนสุด โดยมีท่อลมอยู่ระดับกลาง และท่อน้ำอยู่ระดับล่างสุด การจัดแนวท่อต่างๆ ให้คำนึงถึงการแขวน Support ด้วย ทั้ง Support แขวนท่องานระบบ, Support แขวนเครื่องจักร, Support แขวนดวงโคม, หัวจ่ายและอื่นๆ, รวมทั้ง Support แขวนฝ้าเพดานด้วย อย่างไรก็ตามหากระยะเหนือฝ้าไม่เพียงพอกับการติดตั้งแนวท่อต่างๆ ทั้งๆ ที่ได้พยายามทุกวิธีแล้วอาจต้องขอให้ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมลดความสูงของฝ้าเพดานลง หรือ Drop ฝ้าบริเวณที่เกิดปัญหา แต่ต้องเป็นวิธีสุดท้าย เพราะการลดดังกล่าวอาจเกิดปัญหาเรื่องรูปแบบความสวยงามของพื้นที่การใช้สอย ซึ่งผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมมักไม่ยอมลดง่ายๆ หรือในบางกรณีอาจจะต้องปรับเปลี่ยนขนาดคานให้มีความสูงลดลง แต่ต้องทำการปรึกษาผู้ออกแบบงานโครงสร้างล่วงหน้าก่อนการก่อสร้างคานดังกล่าว หลังจากการจัดแนวท่อต่างๆ ลงตัวแล้ว ผู้ประสานงานของผู้บริหารโครงการและผู้ควบคุมงานก่อสร้างต้องสั่งการให้ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบแต่ละรายไปจัดทำ Shop Drawing แสดงแนวทางการติดตั้งท่อ และ/หรือ การแขวนเครื่องจักรต่างๆ ตามที่ได้สรุปลงตัวแล้ว เพื่อนำเสนอให้ผู้ควบคุมงานพิจารณาเพื่ออนุมัติให้ทำการติดตั้งต่อไป การเขียนแนวท่อต่างๆ ต้องลงขนาดตาม Scale จริง และควรกำหนดตำแหน่งของ Support ด้วย จะได้ไม่เกิดการทับตำแหน่งซึ่งกันและกัน
-
การติดตั้งงานวิศวกรรมระบบควรจัดลำดับให้งานที่อยู่บนสุดทำการติดตั้งก่อนเพื่อความสะดวกสำหรับทุกฝ่าย ส่วนใหญ่จะเป็นการติดตั้งท่อร้อยสายพร้อม Junction Box
ผู้ควบคุมงานควรแนะนำให้ผู้รับเหมางานระบบไฟฟ้าขอแบบงานท่อลมจากผู้รับเหมางานระบบปรับอากาศไปประกอบการติดตั้งท่อร้อยสายของตนเองในการกำหนดตำแหน่งของ Junction Box โดยต้องไม่ติดตั้งอยู่บริเวณเหนือท่อลมโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นอาจต้องทำการรื้อเพื่อติดตั้งใหม่เพราะไม่สามารถร้อยสายไฟฟ้าในภายหลัง เนื่องจากถูกท่อลมที่ติดตั้งในระดับที่ชิด Slab ปิดทับจนไม่สามารถมองเห็นได้
 |
Junction Box ต้องติดตั้งให้พ้นแนวท่อลมเพื่อสามารถร้อยสายไฟฟ้าในภายหลัง |
ขั้นตอนการจัดทำ Combined Drawing ดังกล่าวข้างต้นตั้งแต่ข้อ (1) ถึงข้อ (7) อาจมิใช่สูตรสำเร็จในการขจัดปัญหาการขัดแย้งในการติดตั้งงานวิศวกรรมระบบประกอบอาคารที่อยู่เหนือฝ้าเพดานได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็อาจเป็นแนวทางสำหรับผู้ควบคุมงานที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากนักในการจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่องตลอดโครงการ
ท้ายสุดนี้ในการจัดทำ Combined Drawing ของงานระบบเหนือฝ้าเพดานมีข้อควรระวัง ดังนี้
-
แนวทางการติดตั้งฝ้า เพดานชนิด T-bar ที่มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือชนิด Aluminium Strip ต้องมีทิศทางเดียวกันกับการติดตั้งโคมไฟแบบ Fluorescent เสมอ
-
ถ้าเป็นฝ้าเพดานแบบ T-bar ไม่ควรใช้หัวจ่ายชนิด Linear Slot Diffuser แบบยาวต่อเนื่อง เพราะจะต้องตัดโครงคร่าวออกเพื่อติดตั้งหัวจ่ายดังกล่าว แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรกำหนดขนาดความยาวหัวจ่าย Linear Slot Diffuser เป็นช่วงๆ แต่ละช่วงยาวไม่เกินขนาดฝ้าเพดาน 1 แผ่น หรือไม่ควรปรึกษาผู้ออกแบบขอเปลี่ยนชนิดของหัวจ่ายจะดีกว่า
-
การกำหนดขนาดของหัวจ่ายในแผ่นฝ้าเพดานแบบ T-bar ควรเหลือขอบฝ้าเพดานอย่างน้อย 50 มม. เผื่อไว้สำหรับปีกหัวจ่าย และ/หรือ การขัน Screw ยึดหัวจ่าย หากเหลือขอบฝ้าเพดานน้อยเกินไป เมื่อติดตั้งหัวจ่ายไปแล้ว ฝ้าเพดานมักจะแตกหัก
-
หากมีการติดตั้งหัวจ่ายที่มีขนาดใหญ่ เช่น Return Grille ต้องปรึกษาผู้รับเหมาฝ้าเพดานเกี่ยวกับการเสริม Support และวิธีการแขวนกล่อง Plenum แบบเปิดกับ Slab และยึดหัวจ่ายกับปีก Plenum จะแข็งแรงกว่า
-
ผู้ควบคุมงานวิศวกรรมระบบควรสั่งการให้ผู้รับเหมาทุกรายรีบเสนอวัสดุอุปกรณ์ สีสัญลักษณ์สำหรับ Support, ท่อน้ำ, ฉนวนท่อน้ำ, ฉนวนท่อลมและอื่นๆ ที่จะทำการติดตั้งงานบนฝ้าเพดานให้ผู้ควบคุมงานพิจารณาและอนุมัติก่อนการสั่งซื้อ โดยเฉพาะแผ่นสังกะสี และฉนวนสำหรับงานท่อลม เพราะผู้รับเหมาต้องใช้เวลาในการ Fabricated ก่อนจึงนำไปติดตั้งได้
 |
สัญลักษณ์ระบุประเภทของงานไฟฟ้าบนฝา Junction Box |
-
อุปกรณ์ที่ต้องทาสีทั้งสีกันสนิม และ/หรือ สีทับหน้า Clamp (สีสัญลักษณ์) ยึด Conduit, Support ต่างๆ และอื่นๆ ผู้ควบคุมงานควรสั่งการให้ผู้รับเหมาประกอบ และทาสีจาก Workshop ให้เรียบร้อยก่อนนำมาติดตั้ง หากผู้รับเหมามาทาสีภายหลังอาจจะเลอะเทอะไม่เรียบร้อย Support ที่มิใช่วัสดุเหล็กอาบสังกะสี (Galvanized Steel) จะต้องทาสีกันสนิมทุกชนิด พร้อมทาสีทับหน้าเสมอ และควรเป็น Shade สีเดียวกันทุกระบบ
-
เหล็กรูปพรรณที่นำมาประกอบเป็น Support ทุกชนิด เช่น เหล็กฉาก, เหล็กราง, ฯลฯ เมื่อตัดตามขนาดที่ต้องการแล้ว ควรให้เจียร์ลดคมที่มุมทุกด้านเพื่อลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง
-
การใช้เหล็กรางเป็น Support ควรให้ด้านสันของเหล็กรางอยู่ในแนวตั้ง เพราะจะรับน้ำหนักได้ดีกว่า การให้ด้านสันอยู่ในแนวนอนจะไม่ต่างกันกับการใช้เหล็กฉาก
 |
การติดตั้งเครื่องเป่าลมเย็น (AHU) เหนือฝ้าเพดาน
(สังเกตการติดตั้งเหล็กรางรองรับเครื่อง)
|
-
การเจาะรูยึด U - Bolt ต้องใช้สว่านเจาะห้ามใช้หัวเชื่อมแก็สเป่าเป็นรูโดยเด็ดขาด
-
ควรคำนวณใช้ขนาด Support ทั้งขนาดเหล็กรูปพรรณและขนาดเหล็กแขวน (รวมถึง Expansion Bolt) ที่เหมาะสมโดยปกติจะใช้ Safety Factor ประมาณ 3 เท่าก็พอ
-
หาก Support ที่ใช้เป็นวัสดุเหล็กอาบสังกะสี (Galvanized Steel) หรือจำพวก Unistrut สำหรับยึด Conduit เมื่อทำการตัดเพื่อประกอบเป็น Support จะต้องทาสีกันสนิม (ประเภท Cold Galvanized) ที่รอยตัดที่ใน Workshop ทันที ไม่ควรให้ทาทับภายหลังการติดตั้งไปแล้ว
-
Ceiling Fixtures Outlet และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งบนฝ้าเพดาน หลังจากได้รับการพิจารณาและอนุมัติทางเทคนิคแล้ว ควรให้เจ้าของโครงการหรือตัวแทน และ/หรือ ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมพิจารณา และอนุมัติในเรื่องความสวยงามด้านรูปลักษณ์ สี และอื่นๆ ก่อนทำการสั่งซื้อ
-
ในกรณีเป็นฝ้าเพดานเป็นแบบตะแกรง (Grid Ceiling) การติดตั้ง Sprinkler ที่เป็นแบบ Pendant จะต้องใส่แผ่น Heat Shield เพื่อใช้เป็นที่สะสมความร้อน มิฉะนั้นหากเกิดกรณีไฟไหม้กว่าหัว Sprinkler จะฉีดน้ำดับเพลิงอาจใช้เวลานานเกินไปในการสะสมความร้อน
วัสดุที่ใช้ทำแผ่น Heat Shield ควรเป็นแผ่นเหล็กชุบโครเมี่ยม หรือแผ่นสเตนเลสหนา 3.0 มม. มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 นิ้ว (180 มม.) แผ่น Heat Shield อาจ Fabricate โดยผู้รับเหมาเองหรือสั่งซื้อจากโรงงานผู้ผลิตหัว Sprinkler บางยี่ห้อก็ได้ ในบางบริเวณ (เช่น ห้องเครื่องจักร, ห้องเก็บของ ฯลฯ) อาจมีการยกเลิกฝ้าเพดานภายหลัง แต่ผู้รับเหมางานระบบป้องกันอัคคีภัยได้ติดตั้งท่อสำหรับหัว Sprinkler แบบ Pendant ไปแล้ว หากไม่สามารถแก้ไขให้ใช้หัว Sprinkler แบบ Upright ได้ อาจอนุโลมให้ใส่ Heat Shield ที่หัว Sprinkler แบบ Pendant ได้ แต่ควรปรึกษาสถาปนิกเพื่อสรุปในแง่ความสวยงามก่อน
-
ควรตรวจสอบแต่เนิ่นๆ ว่า หากฝ้าเพดานเป็นแบบตะแกรง (Grid Ceiling) งานต่างๆ เหนือฝ้าเพดานต้องทำการพ่นสีให้เป็นสีเดียวกันหรือไม่? จะได้สั่งการให้ผู้รับเหมาดำเนินการทันทีหลังจากติดตั้งงานต่างๆ แล้วเสร็จ
-
ท่อต่างๆ ที่ผ่านผนังทนไฟจะต้องติดตั้ง Sleeve หรือ Block Out และอุดด้วย Fire Barrier เสมอ
-
การเดิน Conduit เลี้ยวตามแนวคานควรใช้ Fitting (LB) เป็นตัวต่อเชื่อม ไม่ควรใช้วิธีดัดเป็นมุม 45 องศา แบบปีกนกเพราะกินเนื้อที่ค่อนข้างมาก
 |
การเดิน Conduit เลี้ยวตามแนวคานควรใช้ Fitting (LB) เป็นตัวต่อเชื่อม
|
-
การเจาะช่องฝ้าเพดานทุกชนิด รวมทั้งการติดตั้ง Access Panel ควรให้ผู้รับเหมางานฝ้าเพดานเป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว โดยให้ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบชำระค่าใช้จ่ายในอัตราที่เป็นธรรม
-
แบบ Shop Drawing ควรมีสเกลใหญ่พอประมาณ ไม่ควรเล็กกว่า 1:100
-
ท่อน้ำของระบบปรับอากาศ ควรมีสัญญลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นท่อ Chilled Water Supply หรือ Return เพื่อกันการต่อท่อกลับด้านเข้าเครื่อง Air Handling Unit หรือ Fan Coil Unit เพราะกว่าจะรู้ว่าผู้รับเหมาต่อท่อผิดก็อาจจะถึงเวลาใช้งานจริง และงานฝ้าเพดานติดตั้งไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการแก้ไขจะต้องยุ่งยาก และเสียเวลาเป็นอย่างมาก
 |
การหุ้ม Plastic Sheet เพื่อป้องกันฝุ่นและความเสียหายก่อนติดตั้งฝ้าเพดาน
|
-
ไม่ควรจัดแนวท่อลมหลักอยู่เหนือดวงโคม แบบ Fluorescent โดยเด็ดขาด เพราะจะเกิดความยุ่งยากในการจัดทำ Support ยึดดวงโคม ทางที่ดีควรจัดแนวท่อลมหลักอยู่ระหว่างดวงโคมจะดีที่สุด โดยปกติดวงโคมแต่ละดวงจะมีระยะห่างอย่างน้อย 2,000 มม. อยู่แล้ว
-
ควรจัดแนวท่อหลักต่างๆ ให้มีแนวขนานกัน เพื่อลดจุดตัดกันให้เหลือน้อยที่สุด
ซึ่งอาจต้อง Revise แบบของผู้ออกแบบบ้าง แต่ก็ทำให้ลดความยุ่งยากลงไปได้มาก
-
ตำแหน่ง Access Panel ควรกำหนดไว้ข้างๆ เครื่องจักรด้านที่ต้องการทำการ Service อย่ากำหนดไว้ใต้เครื่อง เพราะจะทำงานยาก
-
แผงกรองอากาศ (Air Filter) ของ AHU/FCU ที่ติดตั้งในฝ้าเพดานควรติดตั้งไว้บน Return Air Grille ที่เป็นแบบ Hinge Type จะดีกว่า เพราะเวลาถอด Filter จะได้ไม่ต้องเปิดฝ้าเพดานให้ยุ่งยาก
-
ก่อนผู้รับเหมาจะปิดฝ้าเพดาน ต้องสั่งการให้ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบประกอบอาคารจัดทำ As Built Drawing ก่อน โดยเฉพาะฝ้าเพดานชนิดฉาบเรียบ
-
หากมีงานติดตั้ง Wireway เปล่าเพื่อทำการลากสายไฟฟ้าในภายหลัง (ส่วนใหญ่เป็นสาย Data) ควรจัดในแนว Wireway อยู่ในระดับล่างสุดเพื่อความสะดวก และฝาครอบรางควรให้มีขนาดไม่เกินชิ้นละ 1,200 มม. และไม่ควรมีความหนามากเกินไปจะได้ถอดได้ง่ายในภายหลัง
 |
ฝาครอบราง Wireway ไม่ควรใช้ขนาดยาว
2,400 มม. เพราะถอดยาก ควรใช้ความยาวไม่เกิน 1,200 มม.
|
-
ห้อง Control ที่มีการติดตั้ง Wireway จากในฝ้าเพดานลงมาเชื่อมกับตู้ไฟฟ้า ตำแหน่งของ Wireway ที่ผ่านฝ้าเพดานควรใช้ฝาปิดที่มีความยาวน้อยๆ (ประมาณ 300 มม.) ปิดรางแบบถาวรไปเลย จะไม่ต้องยุ่งกับงานฝ้าเพดานในภายหลังที่ต้องเปิดฝาราง Wireway ดังกล่าว และไม่ควรให้ด้านหลังของ Wireway แนบกับผนังหรือเสา โดยให้ห่างประมาณ 50-100 มม. เพื่อที่จะสามารถติดตั้งโครงคร่าวรับแผ่นฝ้าเพดานที่ผ่านด้านหลังของ Wireway ได้โดยไม่ต้องตัดทิ้ง
-
กรณีที่มีท่อน้ำ (อาจเป็นท่อน้ำดับเพลิงหรือท่อน้ำเย็นสำหรับงานปรับอากาศ) โผล่ลงมาใต้ฝ้า ควรเว้นระยะระหว่างท่อกับผนังหรือเสาไม่น้อยกว่า 100 มม. เพื่อให้ผู้รับเหมางานฝ้าเพดานทำการปิดแผ่นฝ้าเพดานบริเวณหลังท่อน้ำได้โดยง่าย และควรสั่งการให้ผู้รับเหมาตัดแผ่นยางประเก็นเป็นวงแหวนปิดรอบท่อกับแผ่นฝ้าจะดูเรียบร้อยขึ้น
-
ห้องที่ใช้ฝ้าเพดานแบบ T-bar มักจะไม่มีการติดตั้ง Access Panel เพื่อขึ้นไป Service อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในฝ้าเพดาน โดยจะใช้วิธีดันแผ่นฝ้าเพดานแทน ผู้ควบคุมงานควรสั่งการให้ผู้รับเหมางานวิศวกรรมระบบหาเข็มหมุดที่มีหัวสีขนาดเล็กๆ ปักไว้ที่มุมแผ่นฝ้าเพดานที่ต้องการเปิดเพื่อใช้ช่าง Service สังเกตเห็นได้ง่าย จะได้ไม่เปิดแผ่นฝ้าเพดานผิดหากต้องการทำการ Service ในภายหลัง
-
ควรกำหนดให้ผู้รับเหมาทุกรายที่เกี่ยวข้องในบริเวณเดียวกันทำการติดตั้งงานของตนเองตามลำดับก่อนหลังในคาบเวลาที่ต่อเนื่องกัน โดยใช้นั่งร้านชุดเดียวกัน เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการตั้งนั่งร้าน ทั้งนี้ การติดตั้ง Ceiling Fixtures Outlet ให้แล้วเสร็จเป็นงานสุดท้ายก่อนงานตกแต่งพื้น เพื่อลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด
หมายเหตุ : |
ในกรณีที่บางบริเวณที่กำหนดไว้ว่าไม่มีการติดตั้งงานฝ้าเพดาน โดยที่ให้งานวิศวกรรมระบบต่างๆ ติดตั้งแบบเดินลอย (Exposed) การจัดทำ Combined Drawing ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และง่ายต่อการ Service ภายหลัง ซึ่งขั้นตอนและหลักการในการจัดทำ Combined Drawing ให้เป็นไปตามที่กล่าวข้างต้นทุกประการ ยกเว้นจะไม่มีงานฝ้าเพดานมาเกี่ยวข้องด้วย |
|